กษัตริย์นักบริหาร ปลูกวิธีคิดในใจคน

กษัตริย์นักบริหาร ปลูกวิธีคิดในใจคน

ศาสตร์การบริหารนำความผาสุกสู่ทวยราษฎร์ จากดินร้อนแล้งสู่อุดมด้วย’ปลูกวิธีคิดในใจคน’สร้างการมีส่วนร่วมยั่งยืน ต้นแบบธุรกิจตามรอยพระอัจริยภาพ

 “เครือซิเมนต์ไทย” หรือ เอสซีจี เป็นอีกองค์กรที่น้อมนำพระราชดำรัส ปรัชญาการบริหารจัดการ มาใช้ผ่านโครงการ “เอสซีจีรักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” สร้างฝายชะลอน้ำ

โดยพระราชดำรัส เปรียบ “น้ำ คือ ชีวิต” เป็นต้นกำเนิดของทุกปัจจัยการผลิตโดย “ฝาย” จะเป็นเครื่องมือฟื้นป่าต้นน้ำ ชะลอน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และนำน้ำมาใช้ในฤดูแล้ง เมื่อฝายช่วยอุ้มน้ำก็แผ่ไปยังต้นไม้ให้เติบโตเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูป่า 

ดังเช่นพระราชดำรัส “ปลูกป่า โดยไม่ต้องปลูกป่า”

“อาสา สารสิน” กรรมการ และประธานคณะกรรมการกิจการสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี เล่าว่า เพียง 2-3 ปี หลังทำฝาย ป่าเปลี่ยน และคนก็เปลี่ยนตาม เมื่อทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ ฝายก็เบ่งบานในใจคน เกิดการร่วมทุกข์ร่วมสุขช่วยกันฟื้นป่า ปลูกจิตสำนึกของชุมชน การพึ่งพาตนเอง การสร้างภูมิคุ้มกัน เกิดการรวมกลุ่มสร้างวิสาหกิจชุมชน มีจิตสำนึก มีคุณธรรม คิดเป็นเหตุเป็นผล เป็นชุมชนเข้มแข็ง

เกิดเป็น “สถานี ปลูกคิดปันสุข” ชุมชนที่ตื่นรู้ในการจัดการปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอรัฐ แต่พร้อมแบ่งปันความรู้การพัฒนาชุมชนด้านการสร้างงาน สร้างอาชีพ ฟื้นฟูทรัพยากร แบ่งปันภูมิปัญญา รวมถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ วิธีคิดเพื่อพัฒนาปัญญาสู่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ

ผลจากการเข้าไปทำงานกับชุมชนตามพระราชดำรัส ขยายผลสู่การนำหลักการบริหารของพระองค์มาใช้เป็นต้นแบบ ชักชวนผู้คนเข้าโครงการพระราชดำริโดยไม่ยัดเยียด ชี้นำ แต่เน้น“สร้างการมีส่วนร่วม” ทั้งจากการทำงานร่วมกันกับชุมชน ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงภาควิชาการ

จนปัจจุบันโครงการ “เอสซีจีรักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” ถูกขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นทั่วประเทศ จนสร้างฝายชะลอน้ำรวม 68,445 ฝาย มีจำนวนคนเข้าร่วมทำงาน 81,265 คน

ก่อนเอสซีจีจะเดินมาถึงจุดที่ได้รับความไว้วางใจ ความร่วมมือจากชุมชน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องค่อยๆ “ทลายทำแพง” เข้าไปนั่งในใจคน และสร้างพลังศรัทธา 

โดยใช้เครื่องมือที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ คือ การสร้างความเป็นเจ้าของ (Ownership) ไม่คิดแทน ทำแทน เน้นการมีส่วนร่วม(Engagement) 

ไม่ใช้เงินเป็นตัวนำ !

เอสซีจีเริ่มต้นจากการเป็นต้นแบบความสำเร็จสร้างฝายฟื้นป่าสร้างฝายรอบโรงงาน และขยายผลไปสู่ชุมชนที่มีความพร้อม จนป่างอกงามจนนำไปสู่การกินดีอยู่ดีแล้วหมู่บ้านอื่นๆ ก็ตามมาขอร่วมโครงการ โดยเอสซีจี จะสนับสนุนองค์ความรู้และวัสดุ มากกว่าสนับสนุนเงินทุน

ดังพระราชดำรัส ที่ทรงให้หลักการทำงานสร้างชุมชนเข้มแข็งว่า “ต้องพัฒนาจากความพร้อมแล้วจึงค่อยออกสู่สังคมภายนอก มิใช่นำความเจริญภายนอกเข้าหาชุมชน ทำให้ปรับตัวไม่ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง”

เอสซีจีจึงเข้าไปชวนชุมชนทำฝาย ตั้งหน่วยงานอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อทำงานร่วมกับชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเข้าไปลงพื้นที่บ่อยครั้งเพื่อพูดคุยชวนคิด ชวนทำ โดยให้มองปัญหาใหญ่ จากจุดเล็กๆ

ดังพระราชดำรัสที่ว่า“ทุกสรรพสิ่ง ล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน”สอนให้มองเป็นองค์รวม (Holistic) คิดให้ครบ แต่ทำเล็กๆ ก่อนขยายผลไปสู่วงกว้าง ตั้งแต่ธรรมชาติ น้ำ ดิน ป่า คน ล้วนพึ่งพาอาศัยกัน

ดังนั้นเมื่อคนต้นน้ำรู้รักษาป่า ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนปลายน้ำรักษาป่า ซึ่งก็คือ คนเมืองโดยเฉพาะภาคกลางคนกรุงเทพฯ ให้มีจิตสำนึกความเข้าใจระบบนิเวศน์เข้าใจวิธีการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

กุศโลบายสร้างภูมิคุ้มกันในยุคที่โลกมีพลวัฒน์ ทั้งภัยธรรมชาติ อาทิ ปริมาณน้ำฝนที่ยากต่อการคาดการณ์ รวมไปถึงภัยคุกคามด้านต่างๆทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นในหลากหลายประเทศ ล้วนแก้ไขได้ด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยการร่วมมือกันจากหลากหลายฝ่าย

ดังพระราชดำรัสว่า “สำคัญที่สุดจะต้องหัดทำใจให้กว้างขวางหนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดเห็น แม้กระทั่งความวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด เพราะการรู้จักรับฟังอย่างฉลาดแท้จริงคือการระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลากหลายมาปฏิบัติและบริหารงานให้สำเร็จ”
++++++

 “ประชาชน คือ พระอาจารย์”

ตลอด 70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์ทุ่มเท พระวรกายทรงงานหนักเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องความยากจนของราษฎรในพื้นที่ห่างไกลด้วยพระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการ ที่ทรงเน้นไปที่ “การพัฒนาคน”ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จของการดำเนินโครงการพระราชดำริ ว่าวิธีการที่พระองค์ใช้ คือการลงไปนั่งคุยกับชาวบ้าน เพื่อเข้าใจสภาพปัญหา ทรงให้ชาวบ้านเป็นพระอาจารย์เมื่อเข้าใจปัญหาถ่องแท้ ทำให้การแก้ไขปัญหาตรงจุด

“ในหลวง (รัชกาลที่9) ไม่ได้เป็นพระเจ้า สมมุติเทพ หรือ The God แต่ท่านทรงเป็น ผู้นำ (Leadership) ที่เก่งที่สุดเป็นต้นแบบผู้นำที่เสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นผู้นำที่ไม่ได้เกิดจากการแต่งตั้ง แต่เกิดจากศรัทธาของผู้คนอย่างแท้จริง"

สังเกตว่าวิธีการจัดการปัญหาของพระองค์ท่าน จะเริ่มแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดก่อนจะขยายผลไปเป็น“องค์ความรู้”แล้วจึงนำองค์ความรู้ที่ได้มาแก้ไขปัญหา ความสำเร็จจากการบริหารจัดการ ประเมินจากปัจจุบันที่มีโครงการพระราชดำริมากถึง 4,350 โครงการ

อาทิ โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปลี่ยนพื้นที่ปลูกฝิ่นทำไร่เลื่อนลอย มาเป็นการส่งเสริมปลูกพืชเมืองหนาว ,โครงการพัฒนาตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรโดยให้เกษตรกรนำสินค้าเกษตรมาจำหน่ายให้กับโรงงานหลวงแปรรูปอาหาร 3 แห่งภายใต้แบรนด์ ดอยคำ ในราคาที่เป็นธรรม