กูเกิลจัดระบบข้อมูล ‘ในหลวง’ เปิด ‘Map of memory" ไว้อาลัย

กูเกิลจัดระบบข้อมูล ‘ในหลวง’ เปิด ‘Map of memory" ไว้อาลัย

เปิดคนทั่วโลกแสดงความอาลัย



"กูเกิล"ผนึกกรมประชาฯ ดึงข้อมูล "ในหลวง" ที่ถูกต้องลงเสิร์ชเอ็นจิ้น สกัดข้อมูลเท็จ บิดเบือน พร้อมเปิดช่องทาง "กูเกิล แมพ" ให้คนไทย คนต่างชาติทั่วโลกแสดงความอาลัย สามารถระบุพิกัด ถนน ชื่อเมือง

นางสาวสายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร และมวลชนสัมพันธ์ กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า กูเกิลได้ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ ในการดึงข้อมูลในทุกๆ ด้านของของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ เป็นฐานข้อมูลหลัก สำหรับการค้นหาข้อมูลของประชาชนที่เกี่ยวกับในหลวง เป็นการป้องกันข้อมูลอันเป็นเท็จ รวมถึงข้อมูลที่เป็นข่าวลือต่างๆ

โดยจะอ้างอิงข้อมูลจากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมมนตรี สำนักพระราชวัง รวมถึงหน่วยงานรัฐ 

"ดังนั้นทุกครั้งที่มีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับในหลวงผ่านกูเกิล เสิร์ช จะมีคำตอบที่ถูกต้องของในหลวง ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นข่าวลือ หรือข่าวเท็จ " นางสาวสายใย กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนกูเกิล แมพ ยังได้เปิดช่องทางในประชาชนชาวไทย ร่วมลงนามแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยให้คนไทย รวมถึงคนทั่วโลกลงนามฯผ่านกูเกิลแมพตามลิงก์นี้ https://sites.google.com/site/mapofmemory/ ซึ่งจะทำให้ทราบว่า ผู้ที่ลงนามแสดงความอาลัยต่อในหลวงอยู่ ณ มุมใดของโลก ซึ่งกูเกิลจะทำสัญลักษณ์เป็นรูปริบบิ้นดำให้ได้ทราบ โดยสามารถกรอกชื่อ นามสกุล เพื่อแสดงความอาลัยต่อในหลวง และที่อยู่ ซึ่งกูเกิลจะให้กรอกแค่ชื่อถนน และชื่อเมือง ขณะที่ในประเทศไทย จะกรอกชื่อ นามสกุล อำเภอ จังหวัด 

ขณะที่ กูเกิลยังคงแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยหน้าเว็บคำค้นหายังขึ้นโลโก้สีดำ พร้อมทั้งติดริบบิ้นดำ เป็นระยะเวลา 30 วัน

ส่วนคำค้นหาจากกูเกิลในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11-17 ต.ค. 59 คำค้นหาอันดับ 1 คือคำว่า "ในหลวง" อันดับ 2 คือคำว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" และอันดับ 3 คือคำว่า "รูปในหลวง"

ขณะที่ข้อมูลในกูเกิล เทรนด์ ระบุว่า วานนี้ (22 ต.ค.) คำว่า "สนามหลวง" เป็นคำที่ถูกค้นหามากที่สุด เพราะมีประชาชนไปร่วมร้องเพลงสรรเสิญพระบารมี ให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ท้องสนามหลวง