'รองปลัดยธ.' ยันไทยร่วมงานใกล้ชิด 'แอมเนสตี้'

'รองปลัดยธ.' ยันไทยร่วมงานใกล้ชิด 'แอมเนสตี้'

"ธวัชชัย" รองปลัดยธ. แจงหารือรายงานสถานการณ์ทรมาน "แอมเนสตี้" ระบุผลการเก็บข้อมูลในห้วงปี 57-58 พบ 75 คดีซ้อมทรมาน

แจงเป็นการทำงานสร้างสรรไม่มุ่งโจมตีรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายไทยยืนยันถึงความตั้งใจปราบปราม-ออกกฎหมายใหม่เพียบ ยันแอมนาสตี้พร้อมประสานงานอย่างใกล้ชิดกับก.คุ้มครองสิทธิฯ

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. กระทรวงยุติธรรมได้เชิญผู้แทนจากองค์กร Amnesty International (AI) เพื่อร่วมกันหารือเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์ทรมานฯ ในประเทศไทย โดยกระทรวงยุติธรรม มีนางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ได้ประชุมร่วมหารือร่วมกับองค์กร Amnesty International (AI) ซึ่งประกอบด้วยนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานฯ นางสาวปิยะนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการฯ Mr.Yuval Ginbar ผู้เขียนรายงานของ AI เกี่ยวกับรายงานสถานการณ์ทรมานฯ ในประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน

นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า กระทรวงยุติธรรมได้แจ้งผู้แทน AI ให้ทราบถึงพัฒนาการการดำเนินงานป้องกันการทรมานฯ ในประเทศไทย โดยได้ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการป้องกันและปราบปรามทรมานฯ อันจะเห็นได้จากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ด้วยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... การเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ การจัดประชุมและฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหายาเสพติด การบังคับบำบัด การจัดทำประมวลยาเสพติดฯ

รวมถึงให้ข้อมูลภารกิจกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมายของประเทศไทย เช่น ปัจจุบันประมวลฎหมายอาญาก็มีบทบัญญัติรองรับการกระทำทรมานฯ อยู่แล้วเช่นกันฯ และการให้คำมั่นในเวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตามกลไก UPR ว่าจะเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ เพื่อรองรับการอนุวัติการตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว รวมทั้งยืนยันในความเป็นพันธมิตรที่ดีระหว่างกระทรวงยุติธรรม และองค์กร AI ซึ่งได้ร่วมกันผลักดันการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนด้วยดีมาโดยตลอด

ขณะที่องค์กร AI แสดงความขอบคุณกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ได้เปิดโอกาสให้เข้าพบเพื่อหารือร่วมกัน พร้อมทั้งได้แจ้งให้ทราบว่า รายงานสถานการณ์ทรมานฯ ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “Make him speak by tomorrow : Torture and other ill-treatment in Thailand” นั้น จัดทำขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการใหญ่ องค์กร AI ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลกรณีการทรมานฯ ในประเทศไทยจำนวน 75 คดี ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2557-2558 ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอทั้งพัฒนาการ และข้อเท็จจริงของสถานการณ์ทรมานฯ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามภารกิจขององค์กร AI

โดยรายงานฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอภาพรวมสถานการณ์ทรมานฯ ในประเทศไทย ระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดการทรมานฯ และเสนอข้อคิดเห็น เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของภาครัฐ ทั้งนี้ การจัดทำรายงานฯ ไม่ได้มุ่งที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลไทย แต่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ภายในประเทศ ซึ่งการป้องกันการทรมานฯ สามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้ให้ไว้ในรายงานฯ เช่น การสอบสวนคดีทรมานฯ โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ การสร้างระบบร้องเรียนที่ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงได้ การกำหนดมาตรการทางวินัย การฝึกอบรม การขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่ ฯลฯ

“ผู้แทน AI ได้แสดงความขอบคุณและยินดีที่จะร่วมงานกันต่อไป เช่น การส่งต่อผู้เสียหายเข้ารับการบริการของภาครัฐ การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ และที่สำคัญ คือ การสร้างความเชื่อใจให้กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพต่อไป” นายธวัชชัย ระบุ

ก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเซียลมีเดีย โดยระบุข้อวามว่า "แอมเนสตี้แค่ต้องการจะแถลงข้อมูลที่อุตส่าห์ทำรายงานเรื่องการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย ซึ่งมีมากถึง 74 กรณี นับตั้งแต่ปี 2557-2558 แต่รัฐบาล คสช. กลับอ้างเหตุผลเพราะคนแถลงรายงานไม่มีใบอนุญาตทำงาน จึงไม่สามารถแถลงได้

ถ้าเป็นรัฐบาลปกติ เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รัฐก็ปล่อยให้องค์การระหว่างประเทศแถลงไป ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ไม่เห็นด้วยแค่ไหน โฆษกของรัฐก็ออกมาโต้ได้ ยิ่งทำเช่นนี้ ยิ่งทำให้คนอยากขุดคุ้ยว่าที่จริงแล้วข้อมูลซ้อมทรมานเป็นอย่างไร ขนาดที่เผยแพร่ได้ยังมีตั้ง 74 กรณี และที่เผยแพร่ไม่ได้ เพราะสืบค้นข้อมูลไม่ได้ จะมีหมกซ่อนไว้อีกแค่ไหน ?