แจก 6.5พันล. ช่วย 'เกษตรกร2.85ล้านราย'

แจก 6.5พันล. ช่วย 'เกษตรกร2.85ล้านราย'

ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย 1,500-3,000 บาท/ราย คาดใช้งบ 6.5 พันล้านบาท เกษตรกร 2.85 ล้านราย พร้อมสั่ง ธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างหนี้

รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยด้วยการโอนเงินเข้าบัญชี พร้อมเพิ่มสภาพคล่องในระดับฐานรากด้วยการลดภาระดอกเบี้ยและลดภาระหนี้ ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย2มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตทางการเกษตรที่มีความผันผวน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ประกอบกับเกษตรกรบางรายเสียชีวิต ชราภาพ มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ หรือส่วนหนึ่งมีอายุมาก ทำให้ศักยภาพในการทำการเกษตรลดลง ส่งผลให้เกิด ปัญหาหนี้ค้างชำระหนี้

มาตรการแรก คือ มาตรการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่มีรายได้น้อยให้มีเงินเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตซึ่งมีเงื่อนไขต้องเป็นเกษตรกรที่ได้ร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ระหว่างวันที่ 15 ก.ค.-15 ส.ค.2559 ที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองเบื้องต้นจากหน่วยงานราชการแล้ว ซึ่งผู้ทีไม่มีรายได้ หรือ มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้รับเงินโอน 3,000 บาทต่อราย ครอบคลุมเกษตรกร 1.5 ล้านราย และผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน1แสนบาทต่อปี จะได้รับเงินโอน 1,500 บาทต่อราย ครอบคลุมเกษตรกร 1.3 ล้านราย

ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หลังจากที่มีการตรวจสอบข้อมูลแล้ว

ส่วนอีกมาตรการ คือ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบธ.ก.ส โดยการลดภาระดอกเบี้ยและหนี้

คาดหนุนเศรษฐกิจในช่วง 5 ปี

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ามาตรการดังกล่าวรวมทุกโครงการแล้วหากเกษตรกรสามารถชำระดอกเบี้ยได้ตามเงื่อนไข คาดว่าจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจในช่วง 5 ปี มีความคล่องตัวมากขึ้น หลังจากลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ 2-3 หมื่นล้านบาท

“มาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.เพราะเป็นการทยอยลดหย่อนหนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร”

ธ.ก.ส.ยันไม่กระทบสภาพคล่อง

ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

“ธ.ก.ส.เล็งเห็นว่าที่ผ่านมาเกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตทางการเกษตรผันผวน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้ง มีเกษตรกรบางรายเสียชีวิต เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือมีอายุมาก ทำให้ศักยภาพในการทำการเกษตรลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้"

ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการช่วยเหลือตามมาตรการข้างต้นนั้นเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับสถาบันการเงินโดยทั่วไป ส่งผลให้เกษตรกรลดรายจ่ายและมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการการเงินของ ธ.ก.ส.และในระยะยาว กลับจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.จากการที่มีทายาทมารับช่วงทำการเกษตรต่อเนื่องสำหรับมาตรการที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธ.ก.ส.ดำเนินการ 2 มาตรการหลัก คือ

มาตรการแรก เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐระหว่างวันที่ 15 ก.ค.- 15 ส.ค. 2559 ที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานราชการแล้ว

ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรโดยตรง ให้แก่ผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3,000 บาทต่อคน มีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.51 ล้านคน และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 1,500 บาทต่อคน มีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.34 ล้านคน รวมผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 2.85 ล้านคน ใช้งบประมาณ 6,540 ล้านบาท

มาตรการที่สอง ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของเกษตรกร ช่วยเหลือเกษตรกรให้กลับมาทำการผลิตต่อไปได้และสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทให้เข้ามาทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและคืนดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่ชำระดี กำหนดกลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรลูกค้ารายย่อยที่มีหนี้สินต้นเงินกู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท จำนวนประมาณ 2,897,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 334,525 ล้านบาท ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2559 -31 มี.ค. 2561 จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

โครงการปลดเปลื้องหนี้สินให้เกษตรกรรายย่อย ที่มีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น และมีหนี้ค้างชำระหรือเป็นหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใน 2 กรณี คือ

1.หากไม่มีหลักประกันจำนองและไม่มีทายาทรับช่วงการผลิต ธ.ก.ส. จะจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ มีเกษตรกรเป้าหมายประมาณ 50,000 ราย และ2.หากมีหลักประกันจำนองและมีทายาทรับช่วงการผลิต ธ.ก.ส. จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ทายาท โดยนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ 5 ปี พักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ MRR = 7% หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 85,000 ราย

โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้สินให้เกษตรกรที่มีหนี้เป็นภาระหนัก มีหนี้ค้างชำระหรือเป็นหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะดำเนินโครงการใน 2 กรณี ดังนี้

1.หากเป็นเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีทายาทเข้าเป็นลูกค้าแทน จะนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ระยะเวลา 5 ปี โดยพักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ MRR หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 80% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 200,000 ราย

2.กรณีเกษตรกรที่มีหนี้เป็นภาระหนัก จะนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ระยะเวลา 5 ปี โดยพักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ MRR หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 50% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 340,000 ราย

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเกษตรกรและทายาทได้รับการช่วยเหลือด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้ตามโครงการจำนวน 675,000 ราย จำนวนดอกเบี้ยที่ลดให้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง

นอกจากนี้ โครงการชำระดีมีคืนแก่เกษตรกรที่ไม่มีปัญหาการชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยในส่วนที่ลูกค้าส่งชำระระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2559 - 31 ต.ค. 2560 ในอัตรา 30% ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระ โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้ลูกค้ามาลดภาระหนี้โดยตัดเงินต้นให้ลูกค้าในกรณีที่มีหนี้คงเหลือ และคืนให้ลูกค้าเป็นเงินสดในกรณีที่ไม่มีหนี้คงเหลือ และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนกรณีฉุกเฉินจำเป็น (A-Cash) รายละไม่เกิน 100,000 บาท วงเงิน 50,000 ล้านบาท เกษตรกรเป้าหมาย 2,222,000 ราย หนี้สินจำนวน 272,000 ล้านบาท