เอกชนขอรัฐบาล มีส่วนร่วมระบบราง

เอกชนขอรัฐบาล มีส่วนร่วมระบบราง

"กกร."เสนอรัฐบาลเปิดทางเอกชนไทยร่วมพัฒนาระบบราง หวังพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ เตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพี หลังครึ่งปีแรกโตเกินคาด

ภาคเอกชนเรียกร้องรัฐบาลเดินหน้านโยบายให้ภาคธุรกิจในประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางที่อยู่ระหว่างการประมูลก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ โดยกำหนดให้โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภาครัฐ อย่างเช่นรถไฟความเร็วสูงจะต้องมีผู้ประกอบการในประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้างและกำหนดให้ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศ

ล่าสุด รัฐบาลเตรียมเปิดประมูลการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-ระยอง และ กรุงเทพฯ-หัวหิน โดยมีงบประมาณลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าได้ให้สมาชิกไปจัดทำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและเตรียมเสนอต่อรัฐบาล

นายเจน กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปี ภาครัฐยังจำเป็นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมาย 3-3.5% เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนระบบราง โดยเฉพาะการลงทุนโลโคคอนเทนท์ ด้านชิ้นส่วนและประกอบรถไฟทางคู่รถไฟฟ้า และโบกี้ ที่ควรเปิดให้ภาคเอกชนไทยเป็นผู้ลงทุนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

“ก่อนหน้านี้นายกฯเคยมีแนวนโยบายให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนโลคอลคอนเทนท์ระบบราง แต่เรื่องนี้ก็เงียบไป กกร.จึงเตรียมไปทวงถามเพื่อให้นโยบายนี้นำไปสู่ภาคปฏิบัติ เพราะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศและผู้ประกอบการไทยในระยะยาว” นายเจน กล่าว

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สมาชิก ส.อ.ท. ที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมไอที เป็นต้น ไปจัดรายละเอียดความเป็นไปได้ในการลงทุนมานำเสนอในการประชุม กกร.เดือน ต.ค. นี้ เพื่อขอมติ กกร. ก่อนนำไปหารือกับให้เกิดความชัดเจนด้านการลงทุนต่อไป

ยันไทยมีความพร้อมชิ้นส่วน-อุปกรณ์

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานงานส่งเสริมการค้าการลงทุน สภาธุรกิจและศูนย์อาเซียน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนไทย มีความพร้อมที่จะลงทุนโลคอลคอนเทนท์ด้านระบบราง โดยชิ้นส่วนประกอบและอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้า เช่น เหล็ก ช่วงล่าง ประมาณ 70-80% สามารถผลิตได้ในประเทศ ยกเว้น มอเตอร์ ที่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ดังนั้น ภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้เกิดการลงของภาคเอกชน เช่น การกำหนดสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) และการให้สัมปทานการเดินรถควรระบุให้ชัดเจนว่าเอกชนที่เข้าไปลงทุนต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนรูปแบบการลงทุน อาจเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ ให้เอกชนลงทุนเพียงผู้เดียวแต่รัฐช่วยสนับสนุนทางการเงิน

“การลงทุนระบบรางในไทย ควรใช้รูปแบบเดียวกับอินเดีย ที่ขณะนี้ รัฐบาลอินเดียมีนโยบายขยายการลงทุนระบบรถไฟทั่วประเทศ และเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นร่วมลงทุน แต่กำหนดว่า อินเดียต้องร่วมลงทุนตัวรถไฟด้วย ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์ในอนาคต” นายเกรียงไกร กล่าว

ชี้เป็นประโยชน์ขยายเส้นทางด้วยต้นทุนต่ำ

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การลงทุนโลคอลคอนเทนท์ด้านระบบร่าง จะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย ที่สามารถขยายเส้นทางรถไฟและรถไฟฟ้าไปทั่วประเทศด้วยต้นทุนที่ถูกลง ลดการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากต่างประเทศ และอนาคตยังสามารถส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ออกไปยังประเทศอื่นได้
ปัจจุบันประเทศไทยยังใช้การขนส่งสินค้าด้วยระบบรางไม่ถึง 4% ทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทยอยู่ 15.2% ของมูลค่าสินค้า สูงกว่าเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ยกเว้น อินโดนีเซีย ที่มีต้นทุนเฉลี่ย 11% ขณะที่ต้นทุนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 8-9% ของมูลค่าสินค้า ไทยจึงจำเป็นต้องเร่งลงทุนระบบรางลดต้นทุนโลจิสติกส์เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

คาดเศรษฐกิจปีนี้โตกว่าคาดการณ์

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร.เตรียมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มขึ้น จากที่ประเมินว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-3.5% หลังเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะไตรมาส2 ขยายตัว3.5%จึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่าประมาณการกรอบล่าง หรือ สูงกว่า3%แต่จะสูงกว่า 3.5% หรือไม่นั้น ต้องรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

ขณะที่การส่งออกทั้งปี จะยังอยู่ในกรอบติดลบ 2% ถึง 0% แม้ว่าการส่งออกในเดือน ก.ค.ที่ผ่านจะติดลบ 6.4% แต่เชื่อว่าในช่วง 5 เดือนที่เหลือภาครัฐจะประคับประคองให้การส่งออกติดลบน้อยลงได้

ส่วนอัตราการว่างงาน แม้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำมาก และ 3-4 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มที่หลายโรงงานจะเดินเครื่องการผลิตรองรับกิจกรรมในช่วงปลายปีเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานลดลงได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภาคเอกชนยังมีความเป็นห่วงการแข็งค่าของเงินบาท จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดการส่งออก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการที่จะดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวน หรือแข็งค่าเกินไป ขณะที่ภาคเอกชน ไม่อยากให้เงินบาทแข็งค่าเกิน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ กรณีเบร็กซิท ยังต้องติดตามผลการเจรจาของตกลงทางการค้าระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (อียู) เพราะจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินโลก