ฉายาลักษณ์สยาม ระลึกอดีต มองปัจจุบัน ภาพถ่ายโบราณ

ฉายาลักษณ์สยาม ระลึกอดีต มองปัจจุบัน ภาพถ่ายโบราณ

ครั้งแรกในเมืองไทยของนิทรรศการภาพถ่ายโบราณ ตั้้งแต่แรกมีการถ่ายภาพในสยามจนถึงสิ้นรัชกาลที่ 5 กว่า 150 ภาพ จากภาพต้นฉบับซึ่งถูกจัดเก็บในต่างป

ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ ภัณฑารักษ์รับเชิญของนิทรรศการครั้งนี้ เล่าว่า สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ ได้รับต้นฉบับหนังสือ “ฉายาลักษณ์สยาม” ที่เขียนโดย โจคิม บ้าวท์ซ นักเขียนชาวเยอรมัน ที่ได้ใช้ความพยายามติดตามค้นคว้าประวัติและผลงานของช่างภาพในยุคแรกเริ่มการถ่ายภาพในสยาม โดยเฉพาะผลงานภาพถ่ายต้นฉบับที่ถูกเก็บรักษาอยู่ในสถาบันหลายแห่งในต่างประเทศ

“โจคิม บ้าวท์ซ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ใช้เวลาหลายปีในการรวบรวมข้อมูลช่างภาพที่เข้ามาสยามจากสถาบันและนักสะสมในต่างประเทศ ช่างภาพบางคนเข้ามาไม่นานก็ออกไป ไม่ได้ทิ้งหลักฐานอะไรไว้เลย นายโจคิมก็ได้ไปเสาะแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับช่างภาพแต่ละท่าน ไปค้นในทะเบียนราษฎร์ของเมืองที่ช่างภาพคนนั้นเกิด ดูว่าที่อยู่หรือห้องภาพอยู่ที่ไหน ออกจากเมืองไทยแล้วไปอยู่ที่ไหน ทำอาชีพช่างภาพต่อไปหรือไม่ เสียชีวิตเมื่อไหร่ รวมทั้งภาพถ่ายสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับสยาม แล้วก็มาเสนอริเวอร์บุ๊คส์เพื่อที่จะทำหนังสือ จนกระทั่งคุณเอนก นาวิกมูลที่เขียนคำนิยมให้หนังสือเล่มนี้ก็กล่าวว่าบางภาพหรือข้อมูลบางอย่างในเมืองไทยไม่มีเลย หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการเปิดประวัติของช่างภาพแต่ละท่านอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก พอมีหนังสือแล้วก็มีนิทรรศการติดตามมา”

จากภาพถ่ายโบราณ 700 ภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือ “ฉายาลักษณ์สยาม” ผ่านคัดเลือกสู่นิทรรศการ 150 ภาพถ่ายจาก 15 ช่างภาพในยุคแรกเริ่มการถ่ายภาพในสยาม

“นิทรรศการนี้ถือว่าเป็นนิทรรศการภาพถ่ายโบราณครั้งแรกที่รวมผลงานช่างภาพมากที่สุดถึง 15 ท่าน เป็นนิทรรศการที่แสดงภาพถ่ายตั้งแต่เมื่อแรกมีการถ่ายภาพในเมืองไทยไปจนถึงสิ้นรัชกาลที่ 5 หรือประมาณ 50 ปีของพัฒนาการการถ่ายภาพในสยาม และเป็นการแสดงภาพถ่ายที่อัดขยายมาจากภาพต้นฉบับที่ถูกเก็บรักษาในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภาพที่ไม่เคยมีการเผยแพร่ในเมืองไทยมาก่อนอีกด้วย”

150 ภาพถ่ายในนิทรรศการนี้แบ่งเป็น “ภาพบุคคล” อาทิ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 พระฉายาลักษณ์หรือพระรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพขุนนางหรือข้าราชการ ภาพชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการหรือทำงานในสยาม ภาพราษฏรทั่วไปในพระนครและหัวเมือง รวมถึงภาพนู้ดยุคแรกในสยามด้วย

“พระราชพิธีหรือเหตุการณ์สำคัญ” ภาพพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น พระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพ ภาพพระเมรุมาศกลางท้องสนามหลวง พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีลงสรงสนานและเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรก ภาพเหตุการณ์การเสด็จเยือนสยามของมกุฎราชกุมารรัสเซีย และอื่นๆ

“นาฎศิลป์และการแสดง” โขนละครลิเกนับเป็นสิ่งที่ช่างภาพแต่ละท่านให้ความสนใจบันทึกภาพ ทำให้ช่างภาพเกือบทุกท่านต้องไม่พลาดถ่ายภาพการแสดงละครไทย

“วิถีชีวิตชนชาวสยาม” เช่นภาพชาวบ้านร้านตลาดในหัวเมือง เช่น บรรยากาศตลาดผลไม้ เป็นภาพที่มีน้อยและหาชมยาก เนื่องจากช่างภาพหลายท่านไม่ได้พำนักอยู่ในเมืองไทยนานพอที่จะออกไปถ่ายภาพเหล่านี้

และ“สถาปัตยกรรม” ภาพทิวทัศน์อย่างภาพมุมกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถ่ายในหลายช่วงของแม่น้ำตั้งแต่บริเวณถนนตกมาจนถึงบริเวณพระบรมมหาราชวัง ทำให้เห็นพัฒนาการของการขยายเมืองหลวงตั้งแต่ยุคนั้น ได้เห็นชุมชนริมแม่น้ำที่เป็นเรือนแพและเรือนไทยมากมาย ภาพการสัญจรทางน้ำที่คับคั่ง เป็นต้น และยังมีภาพวัดวาอารามหลายแห่งที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน เช่น ภาพเก่าของพระปรางค์วัดอรุณที่ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของวัดได้อย่างชัดเจน

ช่างภาพทั้ง 15 ท่านที่ผลงานได้รับการจัดแสดง ได้แก่ บาทหลวงลาร์โนดี เป็นบุคคลแรกที่ฉายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี รวมทั้งเป็นล่ามหลวงที่ไปกับคณะราชทูตไทยทั้งสองคณะที่ไปฝรั่งเศสในปีพ.ศ.2404 และ 2410

เฟเดอร์ เจเกอร์ เป็นบุคคลแรกที่ฉายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในแบบสามมิติที่ต้องใช้กล้องสองตามองภาพ เช่นเดียวกับ ปิแอร์ รอซิเอร์ เป็นช่างภาพที่ชำนาญในการถ่ายภาพแบบสามมิติเช่นกัน ภาพของเขาได้ถูกแปลงเป็นภาพลายเส้นในหนังสือของอองรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่โด่งดัง

คาร์ล บิสมาร์ค เป็นช่างภาพที่มาเมืองไทยระยะสั้นๆ ไม่กี่เดือน แต่ได้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 กับพระราชโอรสและพระราชธิดาที่สำคัญมาก ซึ่งคนไทยน่าจะยังไม่เคยเห็น ส่วน จอห์น ทอมสัน เป็นช่างภาพคนสำคัญอีกคนที่ได้บันทึกภาพของสยามไว้มากมาย และผลงานยังคงมีความคมชัดจนถึงปัจจุบัน

เฮนรี่ ชูเรน ช่างภาพที่เดินทางเข้ามาในต้นรัชกาลที่ 5 จากสิงคโปร์ ได้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 เมื่อแรกครองราชย์ รวมทั้งภาพทิวทัศน์ที่สวยงามของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับ กุสตาฟ ริชาร์ด แลมเบิร์ต ช่างภาพในราชสำนักอีกท่านที่มีผลงานในต้นรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งได้รับพระราชทานเหรียญบุษปมาลา

แม็กซ์ มาร์ติน เป็นช่างภาพที่หาประวัติที่บันทึกไว้ได้น้อยมาก แต่มีผลงานด้านการถ่ายภาพบุคคลในสตูดิโอที่น่าชมมาก รวมถึง ฟริทซ์ ชูมานน์ ช่างภาพที่มาอยู่ในเมืองไทยเพียงปีเดียว แต่เป็นอีกท่านที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นช่างภาพในราชสำนัก

วิลเลียม เคนเนท ลอฟตัส เป็นช่างภาพอีกคนที่มีผลงานภาพวิถีชีวิตคนไทยมากมาย รวมทั้งทิวทัศน์กรุงเทพฯ เช่นเดียวกับ โจคิม แอนโทนิโอ ช่างภาพที่เคยมาตั้งสำนักอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ตรงหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญในปัจจุบัน มีผลงานนับพันภาพรวมทั้งภาพเมืองไทยที่พิมพ์เป็นโปสการ์ดที่เราคุ้นตากันมากที่สุด

โรเบิร์ต เลนซ์ ช่างภาพในราชสำนักสยามผู้ยิ่งใหญ่ สร้างผลงานไว้มากมายนับพันๆ ภาพ นับได้ว่าเป็นช่างภาพในดวงใจของนักสะสมภาพเก่าทุกคน ด้วยคุณภาพความคมชัดและสีสันของภาพเก่าที่ผลิต โดยห้องภาพนี้ แม้จะผ่านไปเป็นร้อยปี แต่ยังคงความคมชัดเหมือนถ่ายเมื่อไม่นานมานี้

เอมิล กรูท ช่างภาพที่เข้ามารับช่วงต่อจากโรเบิร์ต เลนซ์ในปลายรัชกาลที่ 5 และสร้างผลงานต่อมาถึงรัชกาลที่ 7 ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อต้นรัชกาลปัจจุบัน นับเป็นช่างภาพต่างประเทศที่ใช้ชีวิตในไทยยาวนานที่สุด

ไคชิ อิโซนากะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่มาเมืองไทยในปลายรัชกาลที่ 5 มีผลงานถ่ายภาพบุคคลไว้มากมาย

และที่ขาดไม่ได้ ฟรานซิส จิตร หรือ หลวงอัคนีนฤมิตร ช่างภาพคนไทยคนเดียวในนิทรรศการนี้ ผลงานนับหมื่นชิ้นของท่านยังคงเก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ เพื่อรอการชำระและเผยแพร่ ในนิทรรศการครั้งนี้จัดแสดงผลงานหลายชิ้นของท่านที่ไม่พบในเมืองไทย

นอกจากผลงานภาพถ่ายเมืองไทย 150 ภาพ หนังสือ “ฉายาลักษณ์สยาม” เป็นอีกส่วนประกอบที่สำคัญของนิทรรศการนี้ เป็นหนังสือความหนา 364 หน้า พร้อมภาพถ่ายโบราณที่หาชมได้ยาก 700 ภาพ มีให้เลือกทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษราคาปกเล่มละ 2,000 บาท ซื้อในนิทรรศการลดเหลือ 1,800 บาท หรือซื้อได้ที่ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส์ หรือสั่งซื้อทาง www.riverbooksbk.com / Facebook : River Books

ชม 150 ผลงานภาพถ่ายโบราณสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ในนิทรรศการ “ฉายาลักษณ์สยาม” ระลึกอดีต มองปัจจุบัน ภาพถ่ายโบราณ พ.ศ. 2403-2453 พิธีเปิดนิทรรศการในวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2559 เวลา 18.00 น. ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดแสดงจนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน ทุกวันเวลา 10.00 ถึง 21.00 น (หยุดวันจันทร์)