ดูพอร์ตโฟลิโอกองทุน ก่อนตัดสินใจ

ดูพอร์ตโฟลิโอกองทุน ก่อนตัดสินใจ

ผมเชื่อว่านักลงทุนหลายท่านคงไม่ได้ตัดสินใจซื้อของหรือลงทุนอะไรสักอย่างหนึ่งเพียงเพราะได้ยินมาว่าของสิ่งนั้นดีหรือน่าสนใจ

 

 

   หรือ การซื้อบ้านหนึ่งหลัง ท่านคงไม่ได้ตัดสินใจซื้อโดยทันทีทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เดินเข้าไปดูภายในบ้านหลังนั้น หรือ ซื้อรถยนต์เพียงเพราะคำโฆษณาโดยทั้งที่ยังไม่ได้ลองขับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนในกองทุนรวม ท่านนักลงทุนก็คงไม่ได้ตัดสินใจลงทุนกองทุนกองใดกองหนึ่งเพียงเพราะได้ยินแค่ชื่อกองทุนหรือคำโฆษณาจาก บลจ.

แน่นอนว่าท่านจะต้องทำการศึกษารายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิเช่น ผลการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะไม่ดีเพียงพอ เพราะท่านยังขาดการวิเคราะห์ในส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งนั้นก็คือ พอร์ตโฟลิโอการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ท่านเข้าใจกองทุนนั้นมากขึ้นและรู้ว่าจริงๆ แล้วท่านกำลังลงทุนในทรัพย์สินประเภทอะไรอยู่บ้าง

เครื่องมือที่ Morningstar ได้คิดค้นขึ้นมาเพื่อที่จะมาช่วยวิเคราะห์พอร์ตโฟลิโอการลงทุนของกองทุนได้อย่างง่าย คือ Morningstar Style Box ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นเมื่อปี 2535 และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้นักลงทุนรู้ถึงสไตล์การลงทุนของกองทุนนั้นๆ ได้อย่างง่ายและถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นักลงทุนทั่วโลกใช้กันแพร่หลาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักคือ 1. Morningstar Equity Style Box ซึ่งจะใช้กับกองทุนตราสารทุน (หุ้น) และ 2. Morningstar Fixed Income Style Box ซึ่งจะใช้กับกองทุนตราสารหนี้

โดยในวันนี้ผมจะมาลงรายละเอียดถึงที่มาที่ไปและวิธีการคำนวณMorningstar Equity Style Box ให้ฟังกันครับ

Morningstar Equity Style Box มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมใหญ่ที่มี 9 กล่องเล็กประกอบอยู่ภายใน โดยที่แต่ละกล่องจะบอกถึงสไตล์การลงทุนของกองทุนแต่ละกอง ซึ่ง Morningstar Equity Style Box นี้จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักคือ 1. สไตล์การลงทุน (Investment Style) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามแนวนอน คือ Value, Blend และ Growth 2. มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของตราสารที่ลงทุน (Market Capitalization) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามแนวตั้ง คือ Large, Medium และ Small

       โดยสาระสำคัญและวีธีการมีดังนี้

       1. มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการแบ่งตราสารทุน (หุ้น) ทั่วโลกออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ United States, Latin America, Canada, Europe, Japan, Asia ex-Japan และ Australia/New Zealand เพื่อการเปรียบเทียบดูสมเหตุผลมากที่สุด ตัวอย่างเช่น คงจะไม่เหมาะสมถ้านำหุ้นในประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับหุ้นในอเมริกา ดังนั้นหุ้นในประเทศไทยจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Asia ex-Japan

2. มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการวิเคราะห์หุ้นทั่วโลกโดยจะมีการให้คะแนนเพื่อระบุสไตล์และขนาดของหุ้นนั้นๆ โดยจะทำการเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ ตามแต่ละกลุ่มที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

3.ปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์ Investment Style และ Market Capitalization มีดังนี้ Investment Style โดยทั่วไปนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักได้แก่ Value และ Growth  โดยหุ้นแต่ละตัวจะถูกวิเคราะห์และให้คะแนนทั้ง Value และ Growth ตามหลักเกณฑ์ โดยทำการเปรียบเทียบกันเฉพาะในกลุ่ม จากนั้นจะนำคะแนนที่ได้จากทั้ง Value และ Growth มารวมกันและถ้าผลรวมออกมาค่อนไปทางติดลบมากๆ หุ้นตัวนั้นก็จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Value แต่ถ้าผลรวมออกมาค่อนไปทางบวกมากๆ หุ้นตัวนั้นก็จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Growth และคะแนนอยู่ระหว่างกลางหุ้นตัวนั้นก็จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Blend (Core)

และในส่วนของ Market Capitalization จะทำการคำนวณโดยนำมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของหุ้นทุกตัวในแต่ละกลุ่มมาเรียงจากมากไปน้อยโดยหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุด 70% แรกของกลุ่มจะจัดอยู่ในกลุ่ม Large หุ้นที่มีมูลค่าใน 20% ต่อมาจัดอยู่ในกลุ่ม Medium และ 10% สุดท้ายจัดอยู่ในกลุ่ม Small

4. จากนั้น มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการวิเคราะห์หุ้นทุกตัวในพอร์ตการลงทุนของกองทุนและทำการคำนวณหาค่าเฉลี่ยแบบถ่วง น้ำหนักเพื่อระบุสไตล์การลงทุนของกองทุนแต่ละกองแล้วระบุลงใน Morningstar Equity Style Box  

ซึ่งนักลงทุนทุกท่านสามารถดูได้ในกองทุนหุ้นทุกกองทุนโดยเพียงแค่คลิ๊กเข้าไปในกองทุนที่ท่านสนใจเพียงเท่านั้นครับ