เด็กปชป. หนุน 'อภิสิทธิ์' ไม่รับร่างรธน.

เด็กปชป. หนุน 'อภิสิทธิ์' ไม่รับร่างรธน.

เด็กประชาธิปัตย์ประสานเสียงหนุน “อภิสิทธิ์” ไม่รับร่างรธน. ด้าน “องอาจ” เชื่อหากถูกคว่ำบิ๊กตู่จะนำข้อดีของรธน.หลายฉบับยำรวมเป็นร่างใหม่

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรครปะชาธิปัตย์ แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงว่า ตนต้องขอบคุณประชาชนที่สนใจจุดยืนของหัวหน้าพรรคไม่ว่าจะเป็นการเห็นด้วยหรือเห็นต่าง พรรคเคารพความเห็นที่แตกต่างเรื่องร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ความแตกแยก ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งภายในพรรคที่มีความคิดเห็นที่หลากหลายแตกต่างกันก็เป็นเรื่องปกติ แต่ก็สามารถร่วมมือทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติได้ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรทุกฝ่ายยอมรับเดินหน้าทำงานเพื่อบ้านเมืองต่อไปได้โดยไม่มีปัญหา แต่อย่างใดเพราะทุกอย่างเป็นไปด้วยเหตุผลและการเคารพซึ่งกันและกัน จึงไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดความแตกแยก ขอยืนยันว่าจุดยืนของนายอภิสิทธิ์นั้น ได้ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ปรึกษาหารือรับฟังความเห็นอย่างหลากหลายภายในพรรค โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก และเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ซึ่งการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์มากกว่า

“การจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างปัญหาวุ่นวายทางการเมือง ผมเชื่อว่าไม่ว่าผลออกมาเป็นอย่างไร โร๊ดแมพก็เดินหน้าปกติ กรณีรับร่างการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินสิ้นปี 2560 แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ ระยะเวลาก็ไม่น่าจะแตกต่างจากนี้มากมายนัก โดยเฉพาะเมื่อหัวหน้าพรรคแถลงไปนายกฯก็ยอมรับว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติจะนำข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ มาพิจารณาให้เป็นฉบับใหม่ แสดงว่าเราจะได้รับข้อดีของรัฐธรรมนูญจากหลายฉบับมาเป็นฉบับที่มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผมจึงเห็นด้วยกับพล.อ.ประยุทธ์ ให้นำข้อดีของรัฐธรามนูญฉบับต่างๆ มารวมกัน” นายองอาจ กล่าว

นายองอาจ กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการดีเบตในจังหวังต่างๆ ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการออกเสียงประชามตินั้น ตนเห็นว่าควรเปิดกว้างให้แต่ละฝ่ายร่วมในเวทีดีเบตที่จัดขึ้นในจังหวัดต่างๆด้วย เพราะที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่ามีการกีดกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมในเวทีต่างๆ เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการดีเบต ดังนั้นรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้มีการถกแถลงในเวทีที่รัฐบาลจัดขึ้นตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก่อนตัดสินใจลงประชามติ 7 ส.ค. และจะก่อให้เกิดการยอมรับผลการลงประชามติมากกว่า แต่ถ้าปิดกั้นหรือกีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ให้มีส่วนร่วม ตนก็กังวลว่าจะกระทบต่อการยอมรับการลงประชามติ

ขณะที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะกลัวรัฐธรรมนูญปราบโกงอย่างที่มีการกล่าวหา โดยยกตัวอย่างเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่มความเข้มข้นในเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 วรรค 2 กรณีส.ส.แทรกแซงการจัดงบประมาณเพื่อประโยชน์ตัวเองที่จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่ยังไม่เห็นนักการเมืองคนไหนที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะคัดค้านมาตรานี้คนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็เห็นด้วยจะไปบอกว่าเขากลัวรัฐธรรมนูญปราบโกงจะเป็นความจริงได้อย่างไร รวมถึงการทำให้ประชาชนเข้าที่ถึงข้อมูลข่าวสารได้ เพื่อช่วยตรวจสอบการโกง ก็ไม่ได้ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ซึ่งตนไม่เห็นว่าจะได้เรื่องอะไร ทั้งนี้เห็นว่าหากต้องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นจริงควรจะยกเลิกธนบัตรปัจจุบัน และให้คนแลกเงินเกินสองล้านต้องชี้แจงที่มาที่ไป แม้จะเป็นเรื่องลำบากแต่คุ้มค่าสำหรับประเทศ และแก้ปัญหาทุจริตได้อย่างเห็นผล ซึ่งอาจจะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญหรือใช้มาตรา 44 ดำเนินการก็ได้

ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนต่ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ระบุถึงข้อบกพร่องในการปราบโกงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า สิ่งที่หัวหน้าพรรคให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติ และไม่ได้กลัวรัฐธรรมนูญปราบโกงอย่างที่มีการกล่าวหากัน อีกทั้งได้มีการได้ชี้ถึงจุดอ่อนในเรื่องกลไกปราบทุจริตที่หลายมาตรา โดยตนขอต่อยอดในประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้วางระบบการเมืองป้องกันคนโกงเข้าสู่การเมืองอย่างเด็ดขาด เหมือนที่กำหนดไว้เป็นกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพราะได้มีการตัดสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 102 (14) ที่ระบุว่า บุคคลที่เคยถูกถอดถอนโดยวุฒิสภาจะถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตไม่สามารถเข้าสู่เส้นทางการเมืองได้ และในมาตรามาตรา 174 ยังกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยว่า ต้องไม่เคยถูกถอดถอนตามมาตรา 102(4) แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีการกำหนดลักษณะต้องห้ามเช่นในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ทำให้การวางกลไกป้องกันคนไม่ดีเข้าสู่การเมืองถดถอยลง

“ที่ผ่านมาพรรคตรวจสอบจำนำข้าวด้วยความยากลำบาก ถ้ารธน.ปราบโกงจริงมีหรือเราจะไม่รับ เพราะผลผลิตจากการปราบโกงของพรรคที่มีการถอดถอนบุคคลจำนวนหนึ่ง ที่ส่อว่าทุจริต 4 คน โดยตามรัฐธรรมนูญปี 50 คนเหล่านี้จะถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต แต่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ใส่ไว้ในลักษณะต้องห้ามเท่ากับว่าบุคคลที่เคยถูกถอดถอนจะเข้าสู่การเมืองได้เมื่อถูกเพิกถอนสิทธิเป็นเวลาห้าปี ไม่ใช่ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ทำให้คนที่เคยถูกถอดถอนก็จะได้ประโยชน์จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปรียบเสมือนการนิรโทษกรรมให้จำเลยในคดีจำนำข้าวที่เคยถูกถอดถอนมาแล้ว เราจึงท้วงติงว่าเรื่องนี้ไม่สอดคล้องกับการวางกลไกป้องกันคนโกงเพราะปล่อยให้คนโกงจำนำข้าวกลับสู่การเมืองได้ นี่หรือบอกว่าเป็นรัฐธรรนูญป้องกันคนโกงเข้าสู่การเมือง” รองโฆษกพรรคฯ กล่าว

นายราเมศ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่ตนต้องการคืออยากให้ประชาชนตัดสินใจบนเหตุผลจึงได้ชี้ข้อบกพร่องในการป้องกันคนโกงเข้าสู่การเมือง ดังนั้นถ้าอยากให้คนคดโกงทุจริตเดินเข้าสู่การเมืองเพราะมีการยกเว้นให้ว่าคนที่โกงบ้านเมืองสามารถกลับเข้าสู่การเมืองได้ก็รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่ถ้าไม่ต้องการให้คนเหล่านี้เข้าสู่เส้นทางการเมืองก็ไม่ต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ นี่คือประเด็นที่ประชาชนต้องตัดสินใจก่อนที่จะไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ โดยประชาชนต้องตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลไม่มีใครชี้นำได้ และตนก็อธิบายตามความจริงจากเนื้อหาสาระที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการออกเสียงประชามติอยู่ที่ประชาชนจะตัดสิน