แจง3เหตุผล 'อภิสิทธิ์' ไม่รับร่างรธน.

แจง3เหตุผล 'อภิสิทธิ์' ไม่รับร่างรธน.

“ชวนนท์” แจง 3 เหตุผลหลัก "อภิสิทธิ์" ไม่รับร่างรธน. ไม่ตอบโจทย์พัฒนาปท.-การทุจริต-อาจเพิ่มความขัดแย้ง

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีตโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)และไม่รับประเด็นคำถามพ่วงว่า ขอย้ำว่าความเห็นของนายอภิสิทธิ์ เป็นความเห็นของหัวหน้าพรรคขององค์กรที่ทำหน้าที่แทนประชาชน ที่สมาชิกพรรคให้ความเคารพต่อหัวหน้าพรรค วันนี้พวกเราจึงมีหน้าที่ในการทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสาเหตุในแง่ของเนื้อหาสาระและมิติของข้อเท็จจริงหรือมิติทางการเมือง

นายชวนนท์ กล่าวว่า เนื้อหาที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ชี้แจงไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมามี 3 ประเด็นหลักคือ 1.เรื่องที่รัฐธรรมนูญไม่ตอบโจทย์ในแง่ของการพัฒนาประเทศ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน แก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำหรือสร้างทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน 2.การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มี 2 ประการหลัก แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่เข้มข้นขึ้น แต่เราเห็นว่าสามารถที่จะดีขึ้นได้ทั้ง 2 รูปแบบ และ 3.เราเห็นว่ารธน.ฉบับนี้มีบางประเด็น หรือบางมาตราที่อาจไปเพิ่มความขัดแย้ง หรือไปเพิ่มผู้ที่เข้ามาในกระบวนการทางการเมืองกลายเป็นคู่ขัดแย้ง

นายชวนนท์ กล่าวว่าในเรื่องมิติทางการเมืองที่หลายคนเป็นห่วง คือเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ รธน.คือ 1.มีฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและคสช.หรือฝ่ายตรงข้ามกับทหาร พยายามที่จะหยิบยก ประเด็นว่าหากรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านการลงประชามติจะมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองต่อไปอย่างไรและยืนยันว่าความเห็นของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมิติทางการเมือง และย้ำว่าแม้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ เราก็สนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ของประเทศ และหยิบยกข้อดีในรธน.ฉบับนายมีชัย ที่มีมาก ไปบวกกับข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40-50 ตนคิดว่าตรงนี้จะเป็นนิมิตหมายที่ดี และพล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่มีแรงกดดันในการที่จะต้องทำให้ประชามติผ่านหรือไม่ผ่าน

“ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่เอาผลของการทำประชามติมาเล่นการเมือง ถ้าผ่านพวกเราก็เดินหน้าไปสู่กระบวนการเลือกตั้งตามโรดแม็ปหรือถ้าไม่ผ่านพล.อ.ประยุทธ์เองก็จะต้องไปทำหน้าที่คัดกรองหาผู้ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่และเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับสถานะของรัฐบาลย้ำอีกครั้งมิติทางการเมืองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับผลของการลงประชามติ” นายชวนนท์ กล่าว

นายชวนนท์ กล่าวว่า จากที่มีหลายคนเป็นห่วงว่าหากการลงประชามติไม่ผ่านแล้วจะมีแก๊งค์กวนเมืองที่ตั้งท่ามาจากบ้าน ไม่มีการอ่านเนื้อหา ตั้งใจอย่างเดียวที่จะคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตรงนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วย แม้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแต่เราพิจารณาจากเนื้อหา ขอยืนยันว่า หากผลประชามติ ออกมาในทางลบและมีใครหยิบเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็นทางการเมืองหรือปลุกระดมทางการเมือง มาสร้างความได้เปรียบทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าจะต่อต้านอย่างแน่นอน เราจะไม่ยอมให้กลุ่มใดแก๊งค์ใดหรือพรรคการเมืองใด นำเรื่องรัฐธรรมนูญมาสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมืองอย่างแน่นอน

ประการสุดท้ายที่เกี่ยวกับมิติทางการเมือง หลายคนอาจจะได้ยินว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ตนยอมรับหลายเรื่องมีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะคุณสมบัติ ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอย่างที่เห็น พบว่ามีประเด็นปลีกย่อยที่หลายจุดยังต้องปรับปรุง และจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ปราบโกงได้แน่นขึ้น ไม่ต้องห่วงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกลัวรัฐธรรมนูญปราบโกง สิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องคือ อยากได้รัฐธรรมนูญที่ปราบโกงได้อย่างจริง ๆ แบบเบ็ดเสร็จเราไม่ได้เปิดช่องว่าง หรือเราไม่ได้กล่าวหาว่าใครจะไปเปิดช่องว่าง แต่เมื่อเราเห็นช่องว่างเราก็ต้องช่วยกันอุด ทำให้มันครบเครื่องสมบรูณ์ เราไม่อยากเห็นการร่างรธน.ร่างแล้วร่างอีก

นายชวนนท์ กล่าวถึงประเด็นที่ นายอภิสิทธิ์ อธิบายไปแล้วในเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่อง ที่นักการเมืองที่ถูกพิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีช่องทางหรือมีขยักที่ 2 ในการที่จะสู้คดี เพราะเดิมนั้นในรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ใช่ศาลเดียว เพราะเดิมนั้นผู้ที่ถูกพิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ต้องมีหลักฐานใหม่ ที่เชื่อได้ว่าสามารถไปหักล้างคำพิพากษา หรือ เป็นที่เชื่อได้ว่า สามารถเป็นเหตุ เป็นผลให้ผู้พิพากษากลับคำพิพากษา และเมื่อมีหลักฐานใหม่แล้วให้เสนอไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้พิจารณาว่าตรงนี้รับได้ไหม มีเหตุมีผลไหม และหากมีเหตุผลที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็จะต้องไปตั้งองค์คณะใหม่มาพิจารณา ทั้งหมดคือรัฐธรรมนูญปี 50

หากถามว่าทำไมนายอภิสิทธิ์ถึงเป็นห่วง ก็เพราะว่า รัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ระบุว่ายังมีศาลฎีกาเช่นเดิม เพียงแต่ว่า คราวนี้ที่ชัดเจนไม่มีการระบุว่าต้องมีหลักฐานใหม่หากจะอุทธรณ์สามารถทำได้เลยและที่สำคัญ คือ ไม่ได้ไปที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่สามารถยื่นหลักฐานใหม่ไปที่องค์คณะใหม่ที่ตั้งขึ้น จึงกลายเป็นการต่อสู้ 2 ศาล ที่ไม่ต้องมีหลักฐานใหม่ ไปพิจารณากับองค์คณะใหม่ได้เลยทั้งหมด ตรงนี้คือความเป็นห่วงกลายเป็นว่านักการเมืองที่ทุจริตและถูกพิพากษาแล้วจะมีโอกาสสู้คดี 2 รอบได้โดยหาวิธีใหม่ ๆ เหมือนที่นักการเมืองเลว ๆ บางคนอาจถนัด

ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อ้างว่า การที่ให้นักการเมืองอุทธรณ์ได้หลังจากศาลฎีกาฯ พิพากษาแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับพันธะกรณีของสหประชาชาติ ที่ระบุว่าบุคคลนั้นย่อมอุทธรณ์ได้แต่ต้องไปศาลที่สูงกว่านั้น ในรัฐธรรมนูญปี 50 ระบุว่าหลังอุทธรณ์ให้เข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ เมื่อมีหลักฐานใหม่ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับให้ตั้งองค์คณะใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้สูงไปกว่าพันธะกรณีฯ และมีหลายประเทศขอสงวนสิทธิ์ตามพันธะกรณี ในคดีการเมืองให้เป็นอำนาจของศาลเดียว