จับตาผังเมืองรวมกทม.ปี"60พลิกโฉมเกาะระบบราง

จับตาผังเมืองรวมกทม.ปี"60พลิกโฉมเกาะระบบราง

กูรูอสังหาฯ ระบุจับตาผังเมืองรวมกทม. ปี" 60 ปรับใหม่กลางรอบ พลิกโฉม เน้นระบบราง เพิ่มเอฟเออาร์ -โบนัสรอบรถไฟฟ้าสถานีเท่าตัว

นายมานพ พงศทัต  อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาเคหการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานหลักสูตร” RE-CU” กล่าวว่า ในปี 2560 คาดว่าจะเห็นความชัดเจนของผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการปรับปรุงกลางรอบของกรุงเทพมหานคร  หลังจากที่ได้ประกาศบังคับใช้ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปัจจุบันมาตั้งแต่เดือนพ.ค.2556   เพื่อให้ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ  มีความทันสมัยสอดคล้องกับระบบรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ ที่ขยายไปยังพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯมากขึ้น   คือมีจำนวนมากถึง 13 สาย ระยะทาง 430 กม. ส่งผลให้การพัฒนากระจายได้มากขึ้น  โดยผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 จะเป็นการปรับปรุงครั้งที่ใหญ่ที่สุด ด้วยการให้ความสำคัญกับระบบรางเป็นหลักเป็นครั้งแรก จากเดิมที่ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ จะเน้นการเดินทางด้วยถนนเป็นหลัก

 สำหรับแนวทางปรับปรุงดังกล่าว จะมี 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1.เพิ่มความเข้มข้นในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า โดยจะขยายนิยามของพื้นที่ใกล้สถานีจากเดิม 0.5 กิโลเมตร รอบสถานี เป็น 1 กิโลเมตรรอบสถานี โดยหลักการคือจะเปิดกว้างให้นำพื้นที่บริเวณโครงข่ายรถไฟฟ้าสามารถนำมาพัฒนาได้มากขึ้น พร้อมกับเพิ่มโบนัสให้กับประโยชน์การใช้ที่ดิน (เอฟเออาร์) จากเดิม 20% เป็น 40% ตามเงื่อนไขที่กำหนดการสร้างพื้นที่สาธารณะด้วย   และการขยายอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน(เอฟเออาร์) สูงสุด จากเดิม 10:1 เป็น 12:1  ในบางพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีรถไฟฟ้าผ่าน  

นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งนี้ จะมีการเปิดกว้างให้เจ้าของที่สามารถขายสิทธิทางอากาศเป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วย (คือขายสิทธิการก่อสร้างบนพื้นที่ของตัวเองให้กับโครงการข้างเคียง) จากเดิมที่ไม่เคยมีการดำเนินการในเรื่องนี้มาก่อน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ลดการพัฒนาพื้นที่ในโซนรับน้ำ (เขียวทแยงขาว) ได้ หรือหากจะทำในพื้นที่รับน้ำก็จะต้องทำให้น้ำผ่านได้คือต้องยกใต้ถุนสูง เป็นต้น "นายมานพกล่าว   

สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้ง 13 สายนั้นจะมีสถานีไม่น้อยกว่า 300 สถานี  ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะมีสถานีที่สำคัญประมาณ 43-45 สถานีที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการต่างๆ  ซึ่งเป็นสถานีกลางที่เชื่อมต่อของรถไฟฟ้าหลายสาย สถานีมักกะสัน สถานีแม่น้ำที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการผลักดัน เป็นต้น