ศาลยุติธรรม จ่อเปิดศาลอาญาคดีทุจริตฯแห่งแรก 1 ต.ค.นี้

ศาลยุติธรรม จ่อเปิดศาลอาญาคดีทุจริตฯแห่งแรก 1 ต.ค.นี้

ศาลยุติธรรม พร้อมเปิดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแห่งแรก 1 ต.ค.นี้ ฟันข้าราชการ-เอกชน ทำผิดทุจริต-ติดสินบน

 นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากที่ประชุม สนช. เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบกลาง พ.ศ... แล้วเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมก็พร้อมดำเนินการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบกลางเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเตรียมเปิดทำการศาลในวันที่ 1 ต.ค.59 ที่จะใช้อาคารเดียวกับศาลแขวงดุสิตที่สร้างใหม่ บริเวณศรีย่าน โดยมีอธิบดีผู้พิพากษา 1 คน และรองอธิบดีฯ อีก 3 คน บริหารจัดการศาล

ขณะที่การพิจารณาคดี ได้จัดผู้พิพากษา 10 องค์คณะที่ประสบการณ์พิพากษาคดีกว่า 10-20 ปี ปฏิบัติหน้าที่ ส่วนคดีที่จะเข้าสู่ศาลเป็นคดีที่มีโทษทางอาญาเกี่ยวกับเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐประพฤติมิชอบทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นตัวการ , ผู้ใช้ , ผู้สนับสนุน และร่วมเอกชนเกี่ยวพันให้-รับสินบน สำหรับคดีเจ้าหน้าที่รัฐประพฤติมิชอบ ปัจจุบันมีคดีที่ฟ้องอยู่ในแผนกคดีทุจริตของศาลอาญากว่า 40 คดี แต่หากตั้งศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯ จะเริ่มรับคดีฟ้องใหม่วันที่ 1 ต.ค.

นายชาญณรงค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ฯ กล่าวว่า คดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.คดีอาญาที่เจ้าหน้าที่รัฐ ถูกกล่าวหา หรือร่วมเอกชน กระทำผิด เช่นการเสนอให้และรับสินบน ฮั้วประมูล 2.คดีทางแพ่ง ที่ขอให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายป.ป.ช. , คดีความผิดฐานฟอกเงิน , คดีร่ำรวยผิดปกติ และ 3.คดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ดีในอนาคต จะมีการพิจารณาจัดตั้งศาลคดีทุจริตฯ ภาค ตามที่ระบุไว้ในร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลคดีทุจริตฯ ด้วย
เมื่อถามถึงร่างรัฐธรรมนูญซึ่งใกล้วันลงประชามติวันที่ 7 ส.ค.นี้ การวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของผู้พิพากษาจะทำได้หรือไม่ และศาลสามารถจะให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมาย

นายสืบพงษ์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า กรณีที่เป็นความแสดงความเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวกับองค์กรก็สามารถทำได้ โดยผู้พิพากษามีประมวลจริยธรรมควบคุมอยู่ซึ่งผู้พิพากษาทราบดีอยู่แล้วว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ ส่วนการให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของ กกต. ศาลไม่ได้มีหน้าที่นี้