ปกป้องโขงกับ “โฮงเฮียนแม่น้ำของ”

ปกป้องโขงกับ “โฮงเฮียนแม่น้ำของ”

แต่ละประเทศอาจมีแม่น้ำสายหลักที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของตัวเอง ทว่า ...

สำหรับ “แม่น้ำโขง” ที่มีความยาว 4,909 กิโลเมตร ดูแลชีวิตผู้คนกว่า 100 ล้านคนใน 6 ประเทศ คือ จีน ลาว พม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนามนั้น แทบจะเรียกว่าเป็นหัวใจสำคัญของสิ่งมีชีวิตมหาศาลเลยทีเดียว ฉะนั้น หากโขงเปลี่ยนไป ใครๆ ก็ต้องรู้สึก(สะเทือน)


ลำพังแค่ความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอย่างเดียวก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมากพอแล้ว นี่ยังมีเรื่องของการระเบิดแก่งกลางแม่น้ำโขงเพื่อความสะดวกในการเดินเรือพาณิชย์ และมีการสร้างเขื่อนอีกมากมาย ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่เดือดร้อน สัตว์น้ำน้อยใหญ่ รวมถึงพืชพรรณริมแม่น้ำอีกหลากหลาย ต่างสัมผัสได้ถึงผลกระทบที่รุนแรงนั้น


อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ยึดแต่เศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว อดีตข้าราชการที่ผันตัวเองมาเป็นนักอนุรักษ์ และแกนนำ “กลุ่มรักษ์เชียงของ” จึงร่วมกับเครือข่ายก่อตั้ง โฮงเฮียนแม่น้ำของ ขึ้น ภายใต้ปรัชญา “เคารพธรรมชาติ ศรัทธาความเท่าเทียมของมนุษย์” เพื่อเป็นสนามการเรียนรู้นอกระบบด้านนิเวศวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะกับเยาวชนในพื้นที่


“เขื่อนเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตแม่น้ำโขง ตั้งแต่จีนสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงก็กระเทือนไปทั่ว เขื่อนตัวแรกทำให้ระดับน้ำโขงลดลง เขื่อนตัวที่ 2 ทำให้แม่น้ำโขงขึ้นลงไม่ปกติ เขื่อนตัวต่อๆ มาก็ยิ่งสร้างปัญหาใหญ่ พอน้ำขึ้นลงไม่เป็นปกติ นิเวศเปลี่ยน วิถีคนและปลาก็เปลี่ยน ทั้งเรื่องการวางไข่ การหายไปของปลาบางชนิด ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะคำนวณการขึ้นลงของน้ำไม่ได้ก็ส่งผลต่อวิถีการจับปลาอีก”


ครูตี๋ บอกว่า การพัฒนาเป็นสิ่งดี แต่จุดอ่อนของการพัฒนาในยุคนี้คือไม่อยู่บนรากฐานของประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรม ฉะนั้นจึงต้องนำองค์ความรู้ท้องถิ่นมาเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของคนภายในและภายนอก เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นเครือข่ายการทำงานในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขง


โฮงเฮียนแม่น้ำของแห่งนี้จึงเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนเกี่ยวกับนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการอนุรักษ์ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเสวนา จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย และที่สำคัญเป็น “โรงเรียนชีวิต” ที่สอนให้คนรู้จักตัวเอง รู้จักธรรมชาติ และรู้จักว่า จะทำอย่างไรให้คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข