รายใหญ่พลิกวิกฤติ ฉวย'เบร็กซิท' ตุนหุ้นเข้าพอร์ต

รายใหญ่พลิกวิกฤติ ฉวย'เบร็กซิท' ตุนหุ้นเข้าพอร์ต

นักลงทุนรายใหญ่ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส หลังเกิดกระแสเทขายหุ้นทั่วโลก ฉวยเก็บหุ้นเข้าพอร์ตเพิ่ม

ผลกระทบ‘เบร็กซิท’ ทำให้เกิดกระแสตื่นขายหุ้น (panic sell) ในตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นไทยที่ร่วงไปต่ำสุดกว่า 40 จุด แต่ในมุมมองของนักลงทุนรายใหญ่นั้น มันคือโอกาสในการเข้าซื้อ ฉวยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

อนุรักษ์ บุญแสวง นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน โดยส่วนตัวถือโอกาสนี้เข้าซื้อหุ้นเพิ่ม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถือเงินสดไว้ในมือมากขึ้น เพราะมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยที่ไม่ได้กระทบอะไรมากนักกับบริษัทจดทะเบียนไทย ยกเว้นบางบริษัทเท่านั้น ที่อาจจะได้รับผลกระทบในเรื่องการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นของบริษัทจดทะเบียนไทย

“ผลการโหวตในครั้งนี้ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น และเงินปอนด์อ่อนค่าลง ซึ่งบางบริษัทได้ประโยชน์ บางบริษัทก็เสียประโยชน์ แต่โดยภาพรวมแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแค่เรื่องชั่วคราวเท่านั้น เพราะเรื่องของค่าเงินที่ผันผวนอย่างมากก็กระทบไปสัก 1-2 ไตรมาส หลังจากนั้นก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติ และโดยส่วนตัวก็ไม่ได้ติดตามสถานการณ์ในครั้งนี้มากนัก เพราะผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเชิงเทคนิคมากกว่า คือเป็นเรื่องของค่าเงิน ไม่ใช่พื้นฐานของบริษัท หรือพื้นฐานทางเศรษฐกิจ”

สมพงษ์ ชลคดีดํารงกุล นักลงทุนรายใหญ่ ให้ความเห้นโดยส่วนตัวยังคงลงทุนตามปกติ ซึ่งการปรับตัวลงมาของหุ้นไทยน่าจะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อมากกว่า และกรณีนี้มองว่าผลกระทบค่อนข้างจำกัด

“ไม่ได้กังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากนัก ลงมาก็เป็นโอกาสซื้อมากกว่า ถ้ามีเงินเหลือก็อยากจะเข้าไปซื้อ อย่างหุ้นเยอรมันลดลงมาพันจุด มองว่าน่าซื้อมาก หรืออย่างหุ้นไทยเองผมก็เข้าไปซื้อฟิวเจอร์สในวันที่หุ้นลงแรง สุดท้ายก็รีบาวด์กลับมาได้ 20 จุด และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ค่อนข้างไกลจากเรา”
วัชระ แก้วสว่าง นักลงทุนรายใหญ่ ประเมินว่าภาพรวมสำหรับหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในยุโรปอาจจะต้องหลีกเลี่ยงไปก่อน เพื่อพิจารณาให้รอบคอบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทวิธีรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะธุรกิจยังคงต้องเดินหน้าต่อไป โดยส่วนตัวก็พยายามหาข้อมูล และปรึกษาฝ่ายวิจัย

อย่างไรก็ตามหุ้นที่ถืออยู่นั้นไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงในเชิงพื้นฐานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่จะได้รับผลกระทบจากภาวะของตลาดมากกว่า ซึ่งจากที่ขอข้อมูลจากนักวิเคราะห์แล้วก็ได้รับการยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนักจึงเข้าซื้อ

“ครั้งนี้ผมอ่านผิด เพราะไปเชื่อโพลด์ของบริษัทพนันซึ่งบอกว่าผลโหวตให้อยู่ต่อน่าจะชนะ ด้วยอัตราสูงถึง 60-70% ขณะที่โพลด์ของสถาบันการเงินบอกว่าสูสี แต่ด้วยความที่คิดว่าโพลด์ของบริษัทพนันทำการสำรวจจากจำนวนคนที่มากกว่า จึงเชื่อไปทางนั้น แต่สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเกี่ยวกับไทยเป็นเพียงผลกระทบทางอ้อม”

นักวิเคราะห์ บล.เคที ซิมิโก้ ระบุว่า หุ้นที่มีผลกระทบเชิงลบทางตรงจากยุโรปและอังกฤษ แบ่งเป็น หุ้นที่มีสัดส่วนรายได้จากยุโรป ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เอสวีไอ (SVI) 78% เคซีอี (KCE)55% เดลต้า (DELTA) 28%ฮานา (HANA) 10%กลุ่มอาหารได้แก่ ไทยยูเนี่ยน (TU) 32%จีเอฟพีที (GFPT) 13%เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 3%กลุ่มโรงแรม ได้แก่ โรงแรมเซ็นทรัล (CENTEL) 14% ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) 13% ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) 9.25%การบินกรุงเทพ (BA) 22.7% การบินไทย (THAI) 9.35%กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) 5-6%
หุ้นที่มีสินทรัพย์ในยุโรป แสนสิริ (SIRI)มีโครงการสำนักงานให้เช่าที่ลอนดอน มูลค่า 20 ล้านปอนด์ (ราว 1,050 ล้านบาท) แต่ด้านรายได้ไม่มีนัยสำคัญ หุ้นที่มีหนี้สกุลเยน เช่นการบินไทย (THAI) 13%ท่าอากาศยานไทย (AOT) 100%ของหนี้ต่างประเทศ