อสส.ยังไม่สรุปผลสอบ 'อัยการนาทวี-สมุทรสาคร'

อสส.ยังไม่สรุปผลสอบ 'อัยการนาทวี-สมุทรสาคร'

"อัยการสูงสุด" ยังไม่สรุปผลสอบ "อัยการนาทวี-สมุทรสาคร" หลัง หน.คสช. สั่งม.44 เด้งเข้ากรุ ระบุรอข้อมูล ศอตช. ตั้งกก.สอบใน60วัน

ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้า คสช. มีคำสั่งที่ 33/2559 เรื่องให้ข้าราชการ ไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นโดยอาศัย มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งปรากฏว่ามีรายชื่อ อัยการจังหวัดนาทวี , รองอัยการจังหวัดนาทวี และรองอัยการจังหวัดสมุทรสาคร รวม 3 คน

โดยมีกระแสข่าวว่าอัยการสูงสุด ตรวจสอบแล้ว พร้อมรายงานให้ รมว.ยุติธรรม ฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ( ศอตช.) เสนอ หัวหน้า คสช. ทราบว่าไม่พบความผิดตามข้อกล่าวหา ว่า ตามที่มีข่าวเสนอว่า ตนได้ตรวจสอบแล้วสรุปผลนั้นไม่เป็นความจริง หลังจากที่ หัวหน้า คสช. มีคำสั่งดังกล่าวตนเพียงตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าที่มา-ที่ไป เป็นอย่างไร ยังไม่ได้ลงรายละเอียด เท่าที่ทราบศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ จะส่งข้อมูลที่เป็นมูลเหตุของการเสนอย้าย อัยการปฏิบัติราชการนั้นมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดที่เป็นต้นสังกัดภายในสัปดาห์นี้

โดยตนจะแต่งตั้งอัยการ 1 ชุด เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวเพื่อสรุปผลว่า มีการกระทำที่ว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบจนเกิดความเสียหายแก่ราชการหรือจริงไม่ ซึ่งจะมีเวลาตรวจสอบ 30 วันตามประกาศคำสั่ง คสช. ดังนั้นจึงไม่เป็นความจริงที่ว่าตนได้สรุปผลนั้นแล้วจะส่งให้หัวหน้า คสช. ส่วนอัยการที่ถูกกล่าวหานั้น ขณะนี้ทราบว่าได้มารายงานตัวสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อย้ายการปฏิบัติราชการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แล้ว

ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุด ยังไม่มีคำสั่งในเรื่องนี้ ข่าวที่ว่าอัยการสูงสุดสรุปเรื่องแล้วจึงไม่เป็นความจริง โดยคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ประกาศออกมา ในข้อ 2 ระบุว่า ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ แจ้งข้อเท็จจริงที่เป็นมูลแห่งการตรวจสอบการปฏิบัติราชการให้หน่วยงานเจ้าสังกัดทราบ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาส่วนราชการเจ้าสังกัดนั้น แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยให้ผลเสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งข้อมูลจากศูนย์ ดังนั้นขณะนี้อัยการที่มีชื่อตามคำสั่ง คสช. ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. ก่อนซึ่งถือเป็นกฎหมาย จนกว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จะตั้งขึ้นเสนอความเห็นอัยการสูงสุดเพื่อสรุปผล เพื่อจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้มีรายงานข่าวในกรณีของอัยการจังหวัดนาทวีนั้น กลุ่มอัยการได้พูดถึงเหตุที่มีการกล่าวหาจนทำให้เสนอย้ายอัยการ ตามมาตรา 44 ว่า การตรวจสอบน่าจะมีเหตุกรณีที่ทหารไม่เข้าใจในข้อกฎหมายทำให้เข้าใจผิดการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการผิดไปในเรื่องการฟ้องคดีจับบ่อนพนัน ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา กับการโอนคดีโรฮิงญาของผู้ต้องหากลุ่มใหม่ที่มอบตัวเพิ่มไปพิจารณาที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ดีในส่วนของอัยการแม้จะมีบางส่วนที่ไม่พอใจกับคำสั่งย้ายดังกล่าวแต่ไม่ได้มีการรวมตัวเคลื่อนไหวใดๆ เพราะคำสั่ง คสช.ขณะนี้ถือเป็นกฎหมาย โดยจะรอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกระบวนการเสร็จสิ้นก่อน.

ภาพ-senate.go.th