ค่ายรถขานรับ "ไทยแลนด์4.0" ดันรถยนต์ไฟฟ้า

ค่ายรถขานรับ "ไทยแลนด์4.0" ดันรถยนต์ไฟฟ้า

"ยานยนต์” ขานรับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 “นิสสัน” มั่นใจไทยพร้อมก้าวสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า “อีซูซุ”จี้เพิ่่มอาร์แอนด์ดี "ฮอนด้า"เร่งลงทุนศูนย์ทดสอบ

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรม ที่จะเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจไทย เป็น New Growth Engine ในอนาคตได้ตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศแนวทางตาม First S-Curve 

โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการพัฒนาสูงอยู่แล้ว ดังนั้นการต่อยอดไปสู่แนวทางของยานยนต์ในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ในส่วนมุมมองของนิสสัน ซึ่งปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นผู้นำยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นยานยนต์อนาคต ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของเทคโนโลยีโลก และมีสินค้าจำหน่ายในตลาดโลก ดังนั้นนิสสันจึงมีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่

“ปัจจุบัน ความตื่นตัวของยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเริ่มอยู่ในกระแสสังคมทุกประเทศของโลกรวมทั้งไทย มีการสนับสนุนให้นำยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นซีโร่ อีมิสชั่น ไม่มีมลพิษเกิดขึ้นในอากาศมาใช้งานภายในประเทศให้มากขึ้น ดังนั้น โอกาสที่ไทยจะผลักดันให้มียานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นจึงมีความเป็นไปได้สูง"

เริ่มต้นรถบัสสนองนโยบายรัฐ

ทั้งนี้ ในด้านนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนเพื่อสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยแล้ว และกระทรวงพลังงาน ได้ตอบสนองโดยอนุมัติให้ดำเนินการตามแผนระยะที่ 1 ในการสนับสนุนรถบัสไฟฟ้าก่อน ตามด้วยการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งตามแผนกำหนดให้ดำเนินการให้ได้ 100 แห่ง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต เห็นว่าสิ่งสำคัญคือไทยควรจะมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงาน คือ การพัฒนาไปใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น จากเดิมที่ใช้พลังงานจากน้ำมันเป็นหลัก ไปสู่การใช้พลังงานจากไฟฟ้า และไฮโดรเจน มากขึ้น

นอกจากนี้ ในขั้นตอนการพัฒนายานยนต์ จะต้องนึกถึงการประหยัดพลังงาน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงความปลอดภัยต่อการขับขี่ โดยแนวทางนี้ เป็นแนวทางที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญมากเช่นกัน จึงมีแนวทางในการส่งเสริมยานยนต์ที่ประกาศออกมาแล้วภายใต้แนวคิด คือ “สะอาด ประหยัด ปลอดภัย”

“การที่นิสสันแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนให้มีรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เพราะนิสสันมีเทคโนโลยีนี้ และเป็นผู้นำอยู่ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบัน แสดงให้โลกได้ประจักษ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้จริง”

ชูปัจจัยผลักดันรถไฟฟ้า

นางเพียงใจกล่าวว่า ทั้งนี้การที่จะผลักดันให้เกิดรถพลังงงนไฟฟ้าในไทย มีปัจจัยสำคัญคือ การสร้างการรับรู้ เพราะปัจจุบันทั้งตลาดและคนไทยยังไม่รู้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า คือ รถประเภทไหน ใช้ประโยชน์อย่างไร ดีกว่ารถยนต์ที่มีเครื่องยนต์หรือกึ่งเครื่องยนต์อย่างไร จึงไม่มั่นใจกับการใช้รถไฟฟ้า ทำให้ไม่มีความต้องการ (ดีมานด์) เกิดขึ้น

ดังนั้นเบื้องต้นต้องพยายามสร้างดีมานด์ก่อน ซึ่งอาจจะเร่งรัดในระยะสั้นได้หลายวิธี เช่น รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้ารถไฟฟ้าโดยยกเว้นภาษีศุลกากร เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ในตลาด เพราะราคารถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาค่อนข้างสูงตัว

สินค้า ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานโดยเฉพาะจากภาครัฐให้ความสนใจที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ในกิจการหรือการทดลองเพื่อเตรียมการในอนาคตอันใกล้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสาธารณูปโภค การที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนถนน จะต้องมีสถานีชาร์จ เนื่องจาก รถยนต์ไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางที่สามารถวิ่งได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทรถยนต์ก็เร่งพัฒนาศักยภาพของแบตเตอรี่อยู่ตลอดเวลาเพื่อเพิ่มระยะการใช้งาน

แรงจูงใจ (อินเซนทีฟ) เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายสนับสนุนผู้ซื้อ ผู้ใช้ รถไฟฟ้าอาจจะไม่สามารถแข่งขันกับรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ในปัจจุบัน เนื่องจากการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้ามีต้นทุนสูงมาก และเป็นชิ้นส่วนหลักของรถยนต์ไฟฟ้า

“กำลังเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 การเติบโตอย่างยั่งยืนจึงเป็นจุดยืนที่สำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นเน็กซ์ เจนเนอเรชั่น ออโตโมทีฟ จึงน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้เกิดการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในไทย”

“อีซูซุ”แนะเพิ่มเข้มข้นอาร์แอนด์ดี

นางปนัดดา เจณณวาสิน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ยานยนต์เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในชีวิตประจำวัน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยมีความสามารถในการผลิตรถยนต์สูงที่สุดและใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมทั้งเป็นฐานผลิตรถปิกอัพ และรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีมูลค่าสูงกว่า 9 แสนล้านบาท เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลทุกยุคมีนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การรักษาความเป็นผู้นำในอาเซียน พร้อมไปกับการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ความเป็นเลิศในระดับโลก เห็นว่ารัฐบาลไทยต้องกำหนดนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) นอกเหนือจากด้านวิศวกรรมการผลิต

โดยการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวควรเน้นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านความสะอาด ประหยัด และปลอดภัย โดยให้ความสำคัญด้านพลังงานทางเลือกให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนภายในประเทศ เช่น ไบโอดีเซล, เอทานอล หรือเทคโนโลยี ไฮบริด เป็นต้น

ในส่วนของกลุ่มอีซูซุ ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ยานยนต์และเทคโนโลยีสอดคล้องกับความต้องการของตลาดรถยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การตั้งบริษัท อีซูซุเทคนิคัลเซ็นเตอร์เอเชีย จำกัด รับผิดชอบการวิจัยและพัฒนารถขนาดเล็ก คือ รถปิกอัพและรถอเนกประสงค์ และบริษัท อีซูซุ โกลบอล ซีวี เอ็นจิเนียริ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ในไทย รับผิดชอบการวิจัยและพัฒนารถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่

เพิ่มสิทธิประโยชน์ดัน "นิวเอสเคิร์ฟ"

ส่วนการที่อุตสาหกรรมยานยนต์จะก้าวจาก เฟิสต์ เอส-เคิร์ฟ ไปสู่ นิว เอส-เคิร์ฟ ได้นั้น รัฐบาลต้องสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ด้วยมาตรฐานด้านภาษีต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนายิ่งขึ้น อีกทั้งยังจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับเทคโนโลยียานยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“ฮอนด้า”ลงทุนศูนย์ทดสอบหนุน 4.0

นายทาคาฮิโระ ฮาจิโกะ ประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอ บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา ฮอนด้าได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในไทยอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วได้ประกาศลงทุนการสนามทดสอบพื้นที่ 500ไร่ มูลค่า 1,700 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนา การผลิต และเทคโนโลยีในไทย ซึ่งจะเป็นการตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นเรื่องของการวิจัยและพัฒนา ตามที่รัฐบาลพยายามผลักดันและใช้เป็นกลยุทธ์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ ด้านการผลิต ยังได้เพิ่มเทคโนโลยีในไทยต่อเนื่อง  เช่น การเปิดโรงงานใหม่ที่จังหวัดปราจีนบุรี มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท โดยได้นำเทคโนโลยีใหม่ “อาร์ค ไลน์” มาใช้เป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งจะทำให้การผลิตยืดหยุ่น และพัฒนาคุณภาพมากกว่าการผลิตแบบเดิม ที่สำคัญคือการส่งเสริมให้บุคลากรในสายการผลิตมีความเชี่ยวชาญในหลายส่วนมากขึ้น ต่างจากการผลิตแบบเดิมที่จะชำนาญเฉพาะส่วนเท่านั้น