'มีชัย' ไม่หวั่น'นปช.' เดินหน้าฟ้องยูเอ็น เหตุรัฐปิดกั้น

 'มีชัย' ไม่หวั่น'นปช.' เดินหน้าฟ้องยูเอ็น เหตุรัฐปิดกั้น

"มีชัย” ไม่หวั่น "นปช." เดินหน้าฟ้องยูเอ็น ปมรัฐปิดกั้นกระบวนการประชามติ ยันเป็นไปตามหลักสากล

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต่อการจับตาการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ​โดยล่าสุดได้ยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชามติ (ยูเอ็น) ต่อกรณีที่ถูกรัฐปิดกั้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ​ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อผลที่จะเกิดขึ้นในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแน่นอน เพราะกติกาการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย เป็นไปตามกติกาสากล และไม่มีกติกาอะไรที่ผิดแปลกไป

ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช.​นั้นมีสิทธิที่จะทำได้ หากไม่มีพฤติกรรมขัดขวาง หรือทำตัวให้เป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากมีพฤติกรรมดังกล่าวจะถือว่าเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ และเข้าข่ายทำผิดกฎหมายทันที ซึ่งประเด็นดังกล่าวเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้ติดตามและพิจารณา

นายมีชัย กล่าวถึง สถานการณ์บิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ว่า ขณะนี้ยังพบประเด็นที่ถูกบิดเบือน ซึ่งตนขอเตือนไปยังหนังสือพิมพ์ให้ระวังการเผยแพร่เนื้อหาด้วยเพราะเมื่อช่วงเช้า วันที่ 20 มิ.ย. พบหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เผยแพร่เนื้อหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ขณะที่การดำเนินการมีหลายเรื่องที่ กรธ. ส่งให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา สำหรับการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เร็วๆ นี้ตนจะขอเข้าพบกับ กกต. หลังจากที่มี กกต. ระบุว่าจะให้ กรธ. ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดเอง แต่ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะ กกต. ในฐานะที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายควรมีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องได้

ประธานกรธ.ได้กล่าวถึง การลงพื้นที่เพื่อติดตามและสังเกตการณ์การทำหน้าที่ของวิทยากรเผยแพร่เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญในระดับพื้นที่ (ครู ค) ว่า จากที่ได้รับข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ พบว่ามีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ และอยู่ในทิศทางที่ดี รวมถึงการทำงานดังกล่าวจะได้ผล แม้มีบางพื้นที่พบว่าย่อหย่อนไปบ้าง ส่วนกรณีที่พบว่าบางพื้นที่ ครูค ไม่สามารถอธิบายเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ชาวบ้านเข้าใจได้นั้น ขอให้นำประเด็นปัญหาสอบถามกับทางวิทยากร​ฯ ระดับจังหวัด หรือระดับอำเภอ หรือสอบถามมายัง กรธ. ได้ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น กรธ.​มีศูนย์รับฟังและประเมินผล หากพบว่าประเด็นใดที่เป็นปัญหาจะรวบรวมและส่งแนวทางแก้ไขกลับไปให้พื้นที่ ซึ่งยอมรับว่าการชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญของกรธ.​ต้องพยายามบอกว่ามีข้อดีอะไร ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการชี้นำได้ อย่างไรก็ตามการอธิบายข้อมูลหรือบอกข้อเท็จจริงของร่างรัฐธรรมนูญต้องทำเท่าที่ทำได้ และยอมรับสภาพที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

"กรณีที่อาจเกิดการก่อกวนการทำงานในพื้นที่นั้น ผมมองว่าประชาชนเขาฉลาด และรับรู้ รวมถึงเข้าใจได้เอง ว่า ในกลไกทางการเมืองที่บ้านเมืองเดินไปสู่ภาวะปกติ แล้วมีคนมาก่อกวนจะเกิดอะไรขึ้น ประชาชนย่อมทราบดี ขณะที่ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ เช่น ฝนตก น้ำท่วม ภูเขาถล่ม นั้น ผมเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหากับการทำความเข้าใจ เพราะยังมีเวลาทำงานอีกกว่า1 เดือน” นายมีชัย กล่าว