ทุนข้ามชาติบุก‘โค-เวิร์คกิ้งสเปซ’ในไทย

ทุนข้ามชาติบุก‘โค-เวิร์คกิ้งสเปซ’ในไทย

คอลลิเออร์ส ชี้ทุนใหญ่สหรัฐบุกตลาด “โค-เวิร์คกิ้งสเปช” ในไทย หลังพบขยายตัวเร็วรับ “สตาร์ทอัพ-เอสเอ็มอี” ยุคใหม่

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกผู้ให้บริการสำนักงานในรูปแบบเดิมกำลังเผชิญความท้าทายใหม่จากโค-เวิร์คกิ้งสเปซ ซึ่งได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเซอร์วิสออฟฟิศรายใหญ่มีการปรับพื้นที่เพื่อให้บริการได้ทั้งเซอร์วิสออฟฟิศ และโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ในพื้นที่เดียวกัน เช่น รีจัส ในสหรัฐ

ขณะที่ “วีเวิร์ค” ของสหรัฐ ได้มีการขยายตลาดเข้าไปในเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง พร้อมยกระดับธุรกิจก้าวสู่ระดับโลกด้วยการขยายเครือข่ายต่อเนื่องไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งการขยายมายังประเทศไทย แนวโน้มดังกล่าวส่งผลต่อผู้ให้บริการเซอร์วิสออฟฟิศในประเทศไทยบางรายอาจต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนไปเป็นโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ

โดยรูปแบบสำนักงานที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะนี้ คือ การทำงานแบบโค-เวิร์คกิ้งสเปซ ที่เหมาะสำหรับธุรกิจสตาร์ท-อัพ รวมทั้งกลุ่มคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ กลุ่มคนที่ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศไทย มีจุดเด่นที่ค่าเช่าต่ำ สามารถเช่าเป็นรายวันได้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นพื้นที่ทำงาน เช่น โต๊ะทำงาน ระบบไวไฟความเร็วสูง ห้องประชุม รวมทั้งพริ๊นเตอร์และอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ

ทั้งนี้ 6-7 ปีที่ผ่านมา ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ มีอัตราว่างเฉลี่ยน้อยกว่า 10% ต่ำสุดในช่วงกว่า 10 ปี ทำให้ค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทำเลที่ไม่ไกลจากเส้นทางรถไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของบริษัทขนาดเล็ก สตาร์ท-อัพ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

“ธุรกิจสตาร์ท-อัพ หรือ เอสเอ็มอี อาจยังไม่พร้อมหรือไม่มั่นใจพอที่จะเช่าพื้นที่ในอาคารสำนักงาน โค-เวิร์คกิ้งสเปซจึงเป็นทางเลือกสำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์ที่ต้องการพื้นที่ทำงานที่ดูเป็นทางการกว่าที่บ้าน แต่ไม่จริงจังแบบพื้นที่สำนักงานในรูปแบบเดิม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการทำงานรวมทั้งมีภาพลักษณ์ที่ดูดี”

โค-เวิร์คกิ้งสเปซ เริ่มได้รับความนิยมในหลายปีก่อนหน้านี้ทั่วโลก ผู้ใช้ส่วนใหญ่คือคนที่ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต ฟรีแลนซ์ สตาร์ท-อัพ และมีจำนวนไม่น้อยที่ผู้ใช้เป็นนักท่องเที่ยวทำงานที่ใดก็ได้ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้นรูปแบบของโค-เวิร์คกิ้งสเปซจึงเป็นที่ยอมรับในวงกว้างไปทั่วโลก ทำให้จำนวนของโค-เวิร์คกิ้งสเปซเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในสหรัฐ ยุโรป และเอเซีย รวมทั้งประเทศไทย เริ่มเปิดตัวในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2555 หลังจากพื้นที่รอบนอกประสบปัญหาน้ำท่วมช่วงไตรมาส 4 ปี 2554 ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเดินทางไปทำงานที่บริษัทได้ จึงทำงานที่บ้านแทน หลังจากนั้นโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ จึงเปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการในกรุงเทพฯ สอดรับปริมาณของฟรีแลนซ์หรือกลุ่มคนทำงานที่บ้านซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี คาดว่าใน 1-2 ปีข้างหน้า การยอมรับว่าโค-เวิร์คกิ้ง สเปซเป็นอีกรูปแบบของสถานที่ทำงานจะขยายไปในวงกว้างมากขึ้นในไทย