นายกฯ ระบุต้องก้าวข้ามกับดัก-หยุดความขัดแย้งเก่า

นายกฯ ระบุต้องก้าวข้ามกับดัก-หยุดความขัดแย้งเก่า

นายกฯ เขียนจดหมายข่าวรบ. ระบุต้องก้าวข้ามกับดัก หยุดความขัดแย้งเก่า แล้วเดินหน้าประเทศใหม่ ไม่ผิดซ้ำรอย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขียนบทความ "จากใจนายกรัฐมนตรี" ลงในจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ฉบับที่ 27 วันที่ 1 มิ.ย. 2559 โดย ระบุว่า "…จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา…” ส่วนหนึ่งของบทเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 43 "ความฝันอันสูงสุด" ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยมาเกือบครึ่งศตวรรษ เพื่อส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงาน โดยยึดมั่นอุดมการณ์รักชาติ และเตือนมิให้ท้อถอยในการทำความดีเพื่อบ้านเมือง โดยเฉพาะในยามวิกฤติ ยามที่ประเทศชาติต้องการความ "รู้ รัก สามัคคี" ซึ่งผมขออัญเชิญมาเพื่อรวม "พลังแผ่นดิน" ให้เราก้าวข้ามกับดัก "หยุดยั้ง…ความขัดแย้งเก่า" แล้วก้าวเดินไปข้างหน้า "เริ่มต้น…ความร่วมมือใหม่" เพื่อสานฝัน สร้างอนาคต ให้ลูกหลานไทยครับ

การเริ่มใหม่ครั้งนี้…มี 1.เป้าหมาย (End) ที่ชัดเจนคือ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคง ด้วยการพัฒนาที่ยั้งยืน" 2.วิธีการ (Way) คือแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในทุกระดับตั้งแต่รัฐบาลจนถึงระดับครัวเรือน ในทุกมิติที่สมดุลกัน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยไม่ลืมการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 3.เครื่องมือ (Mean) คือพลังแผ่นดินจาก "ไตรภาคี" ตามแนวทางประชารัฐ เพราะประเทศเป็นของทุกคนใช่เพียงเป็นของกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มทุน ที่ปกติจะมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ "นักธุรกิจ-การเมือง" ที่บริหารประเทศเหมือนบริหารบริษัทย่อมไม่ปกติ เพราะบริษัทมุ่งหมาย "ผลกำไร" แต่ประเทศมุ่งหวัง" ผลประโยชน์ส่วนรวม”คือความผาสุขของคนทั้งชาติ อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ดังนั้นรัฐบาลต้องส่งเสริมบทบาท "นายทุนน้ำดี"  ให้มีโอกาสช่วยชาติ ช่วยประชาชน บนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาล

การลุกขึ้นยืนของประเทศครั้งใหม่นี้…มีการ "คิดใหม่ ทำใหม่" เป็นสามัญ ยิ่งกว่านั้นต้อง "คิดดี ทำดี" เป็นสำคัญ แล้วเดินหน้าประเทศใหม่ ไม่นอกรีต ไม่ผิดซ้ำรอย โดย…1. "ผิด-หยุด" พิจารณาข้อเท็จจริงใหม่ เช่น เรื่องการยุติเหมืองทองคำ รัฐต้องไม่เห็นเพียงรายได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพของพี่น้องประชาชน และสมดุลของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เป็นจุดตกลงใจ เรื่องค่าปรับคลองด่านรัฐต้องไม่เอาเปรียบเอกชน ไม่ละเมิดกฎหมายเอง 2. "ถูก-ทำ" ไม่ชักช้า ไม่ละเลย ไม่หาเสียง ไม่แอบแฝง เช่น การจัดระเบียบสังคม การปกครองการทุจริต การบูรณาการน้ำ การทวงคืนผืนป่า การจัดสรรที่ดินทำกิน บ้านประชารัฐ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) การติด GPS ในรถสาธารณะและรถบรรทุก เป็นต้น

ทั้งนี้ ผมเห็นว่า การปฏิรูปหรือการปรับแก้หรือการริเริ่มใหม่ใด ๆ ก็ตาม ให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมนั้น เราต้องสำรวจตัวเองก่อนให้ "รู้ตน รู้คน รู้โลก"  เพราะเราแก้ไขคนอื่นไม่ได้ แต่เราแก้ไขตัวเองได้ โดยเริ่มต้นที่การพัฒนา "จิตสำนึก" ที่ดีครับ