'พีระศักดิ์' นำทีมสนช. ลงพื้นที่รับฟังปัญหาปชช.

'พีระศักดิ์' นำทีมสนช. ลงพื้นที่รับฟังปัญหาปชช.

“พีระศักดิ์” นำทีม “สนช.” ลงพื้นที่ รับฟังปัญหาปชช. พร้อมแจงคำถามพ่วง ด้าน“กล้านรงค์” แจงเหตุเปิดช่องสว.เลือกนายกฯได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 พร้อมด้วยสมาชิก สนช.​ อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง พล.อ.ดนัย มีชูเวท พล.ท.ชัยยุทธ พร้อมสุข นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล และนายคำนูณ สิทธิสมาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และนายไพโรจน์ อาจรักษา ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ตามโครงการ “สนช.พบประชาชน” เพื่อรับฟังปัญหาและชี้แจงประชาสัมพันธ์คำถามพ่วงประชามติให้กับตัวแทนจากทั้งส่วนราชการรวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้การต้อนรับ

โดยนายพีระศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมา สนช.ลงพื้นที่พบประชาชนโดยไม่เลือกว่าเป็นพื้นที่ว่าเป็นของใคร ไม่กลัวว่า จะเป็นสีไหน พรรคไหน อย่างในภาคอีสานที่ จ.บึงกาฬ และ จ.หนองคาย เราก็ไปมาแล้ว หรือในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เราก็ไม่หวั่นไหว จ.นราธิวาส จ.ยะลาก็ไปมาแล้ว ก่อนจะลงพื้นที่ไม่ถึงสัปดาห์ มีเกิดเหตุระเบิดต้อนรับเพื่อเช็คว่า สนช.ชุดนี้ใจกล้าหรือไม่ แต่เราก็ไป เพราะสนช.ไปแก้ปัญหาให้กับประชาชน และได้เห็นปัญหาเยอะแยะนำกลับมาแก้ไข ซึ่งทุกเวทีที่ผ่านมา เรารับปัญหามาเกือบ 5,000 ปัญหา ขณะนี้เหลืออยู่ร้อยกว่าปัญหายังแก้ไม่ได้ หลังจากนี้สนช. จะจัดชุดอนุกรรมาธิการเกาะติด ติดตามผล แบ่งโซนเป็นภาคๆ หวังว่า ความตั้งใจเป็นสะพานเชื่อมคงได้รับความร่วมมือ ทำงานจนเกิดผลสำเร็จให้ได้

​ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสะท้อนปัญหาโดยนายชวลิต หงอเทียด ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชน จ.ฉะเชิงเทรา และจ.ชลบุรี ได้ลุกขึ้นกล่าวถึงปัญหาแม่น้ำบางปะกงตื้นเขิน สืบเนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มีการผันน้ำ จากแม่น้ำเจ้าพระยา มาลงที่แม่น้ำบางประกง ทำให้แม่น้ำมีตะกอนตกค้างจำนวนมาก กระทบต่อกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพง มีปัญหาน้ำประปา ทั้งเค็ม ทั้งขุ่น ทั้งเหม็น เนื่องจากขาดแหล่งน้ำดิบ หากเป็นไปได้ อยากให้สนช.ช่วยประสานงานหาแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพ รวมถึงอยากให้ขยายถนนเส้นบางปะกง ไปคลองด่านเพิ่ม เพราะขณะนี้มีเพียงเลนเดียว เพื่อแก้ปัญหารถสิบล้อที่วิ่งหนาแน่นมาก และมีอุบัติเหตุรถสิบล้อเฉี่ยวชนนักเรียนได้รับบาดเจ็บ

“อยากได้ถนนที่มีคุณภาพใช้ได้นานๆ ไม่ใช่สร้างมาไม่นานก็พังเหมือนก่อน อีกปัญหาค้างคาใจ อยากฝากถึงผู้ดูแลเรื่องพลังงาน เราไม่ได้ค้านไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินพนมสารคาม แต่ขอให้เปลี่ยนพื้นที่การตั้ง เพราะโครงการที่สร้างใกล้กับโครงการพระราชดำริเขาหินซ้อน กระทบความชาวสวนในพื้นที่” นายชวลิต กล่าว

ต่อมานายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสนช.ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการมีคำถามพ่วงประชามติ ว่า วันที่ 7 ส.ค.เป็นวันสำคัญที่ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ จะลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ส่วนเหตุที่ต้องมีคำถามพ่วง เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดำเนินการเสร็จก็ให้สนช. พิจารณาเพื่อเสนอประเด็นคำถามอื่นได้ไม่เกิน 1 ประเด็น ซึ่งสนช.มีมติเห็นชอบให้ตั้งคำถามพ่วงว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาล ว่าระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตร

นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า ซึ่งในคำถามมีคำหลักอยู่ 3 คำ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ชาติ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นไปตามวาระรัฐบาลแต่ละชุด 2.ระยะเวลา 5 ปี เพราะอายุของวุฒิสภา กำหนดไว้ 5 ปี จึงเอามาเป็นตัวหลัก 3.รัฐสภาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี เพราะตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 270 เขียนอำนาจหน้าที่ส.ว.ที่มีมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆมา นั่นคือหน้าที่ในการติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานความคืบหน้างานปฏิรูปทุก 3 เดือน ดังนั้น บุคคลที่เป็นนายกฯจึงมีความสำคัญในการทำยุทธศาสตร์ชาติให้เดินหน้า อย่างไรก็ตามยืนยันว่าทั้ง 2 คำถามไม่เกี่ยวพันกัน ประชาชนมีสิทธิที่จะเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ไม่เห็นชอบร่างแต่เห็นชอบคำถามพ่วง หรือไม่เห็นชอบทั้ง 2 คำถามก็ได้