'6คำต้องห้าม' เสี่ยงผิดช่วงประชามติ

'6คำต้องห้าม' เสี่ยงผิดช่วงประชามติ

"วิษณุ" ชี้ 6 คำต้องห้ามเสี่ยงผิดช่วงประชามติ แนะอะไรที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายไม่ควรทำ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความชัดเจนเรื่องข้อห้ามทำได้-ไม่ได้ในช่วงการทำประชามติ ว่า อะไรที่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อแต่ละฝ่ายเข้าใจไม่ตรงกัน ก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าที่เข้าทางได้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีความเห็นไม่ตรงกันในการแปลความข้อกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้จะมีความชัดเจนต่อเมื่อไปถึงชั้นศาล ทั้งนี้เมื่อความเห็นแต่ละฝ่ายไม่ตรงกัน แล้วเป็นเรื่องของความผิดหรือไม่ผิดก็จะเกิดความเสี่ยง เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่าผิดก็จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย จากนั้นเมื่อเรื่องไปถึงศาล หากศาลบอกว่าผิดหรือไม่ตรงนั้นถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย คำเตือนจึงมีอยู่ว่าอะไรที่คิดว่าเป็นความเสี่ยงขอให้ระมัดระวังไว้

“ส่วนตัวมองว่าการแสดงความเห็นของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ต่อให้ไม่มีการทำประชามติ คนย่อมมีสิทธิเสรีภาพ ในการคิด เขียน พิมพ์ โฆษณา รวมถึงแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว ซึ่งหลักนี้ก็ตอกย้ำเรื่องของประชามติในมาตรา 7 ด้วย แสดงว่าเบื้องต้นทำได้ ส่วนข้อยกเว้นที่ทำไม่ได้ก็มีอยู่ เช่นในมาตรา 61 ขอให้ระวังอย่าทำผิดในสิ่งที่ห้ามไว้” นายวิษณุ กล่าว 

เมื่อถามว่าที่เคยระบุว่าหากรอดจากกฎหมายหนึ่ง อาจจะผิดกฎหมายหนึ่งนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เกือบทุกเรื่องในสังคมการทำผิดกรรมเดียวอาจผิดกฎหมายหลายอย่างเพราะการแสดงออกบางอย่างอาจจะผิดในประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งบางฉบับได้ประกาศไว้ตั้งแต่คสช.เข้ายึดอำนาจใหม่ๆ แล้ว หรือบางอย่างอาจผิดในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งการผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป ขอให้ระวังในข้อกฎหมายเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้หากผู้ใดเห็นว่าเกิดการทำผิดกฎหมาย สามารถแจ้งความได้โดยไม่ต้องเป็นหน่วยงานที่ออกกฎหมาย แต่การที่รัฐบาลพยายามให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบหรือคู่มือเพื่อให้ประชาชนรับทราบว่าหากไม่ผิดระเบียบของกกต. กกต.จะได้ไม่เอาเรื่อง เวลาเกิดเรื่องน้ำหนักจะได้น้อยลง

เมื่อถามถึงกรณีที่ทาง กกต. เองก็ยังอธิบายได้ไม่ชัดเจนในข้อห้ามช่วงทำประชามติ นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าส่วนหนึ่ง กกต. ยังงงและไม่เข้าใจเหมือนกัน และตนว่าสิ่งที่ กกต. กลัวว่าการแนะนำอะไรว่าทำได้หรือทำไม่ได้ แล้วปรากฏว่าวันหนึ่งมีคนเชื่อ กกต. เมื่อเรื่องไปถึงศาล แต่ผลออกมาดันตรงกันข้ามกับข้อชี้แนะของ กกต. ก็จะมาโทษกกต. เสียเปล่า ทำให้กกต.ได้ออกระเบียบแบบกว้างๆ จึงทำให้ประชาชนงง สับสน ทำให้สรุปได้ว่าอะไรที่เราไม่แน่ใจก็อย่าทำ แต่หากคิดว่าไม่ผิดก็ทำไป แล้วมาสู้คดีในภายหลัง

“โดยทั่วไปหากคนในสังคมรู้ว่าไม่แน่ใจทำผิดหรือไม่ ก็จะไม่ทำอะไรสุ่มเสี่ยงเพราะคำในกฎหมายสิ่งที่ต้องระวัง มีอยู่เพียง 6 คำเท่านั้น คือ 1.ไม่กระทำการใดผิดต่อความเป็นจริง ซึ่งคนที่พยายามจะฝ่าฝืนคือคนที่คิดว่า สิ่งที่จะพูดออกมาเป็นความเท็จแต่ไม่น่าจะผิดกฎหมาย 2.ไม่ก้าวร้าว 3.ไม่รุนแรง 4.ไม่หยาบคาย 5.ไม่ปลุกระดม และ 6.ไม่เป็นการข่มขู่ ซึ่งคำว่าปลุกระดมอาจทำให้ประชาชนสับสน เพราะถือเป็นคำที่กว้างในตัวมันเอง และทำให้เราสับสนว่าทำได้หรือไม่” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า การปลุกระดมตามพจนานุกรมแปลว่าพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการยั่วยุให้มีการฮึดขึ้นต่อสู้คัดค้าน หรือฮึดขึ้นทำอะไรสักอย่าง เช่นการใส่เสื้อของคน 1 คน 1 ตัว ให้ไม่รับก็ไม่ควรผิดเพราะถือเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว แต่เมื่อมีการชวนคนมาใส่เสื้อ 5-10 คนว่าไม่รับอาจแปลว่าเป็นการยั่วยุ โดยจะต้องดูตามเจตนา ไม่ได้ถือว่าปิดปากจนทำอะไรไม่ได้เสียทั้งหมด ถ้าพูดเป็นก็พูดได้ เพียงแค่ระวังถ้อยคำเวลาและสถานที่ และมีเจตนาให้ดีเข้าไว้ ไม่เชื่อว่าผิดเพราะตนเองก็พูดอะไรไปมากมาย ก็ไม่เห็นว่าจะน่ากลัว เพราะรู้ว่าไม่ได้สุ่มเสี่ยงส่วนคนที่คิดว่าจะทำอะไรสุ่มเสี่ยงก็ให้ระวัง