เล็งตัด'พนักงานราชการ'ในร่างแผนการศึกษาชาติ

เล็งตัด'พนักงานราชการ'ในร่างแผนการศึกษาชาติ

สกศ.เดินสายประชาพิจารณ์ร่าง แผนการศึกษาชาติ4ภาค คาดไม่เกิน2สัปดาห์สรุปเสนอบอร์ด เผยเล็งตัดคำว่า “พนักงานราชการ” หวังลดกระแสค้าน

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกศ.ได้ทำประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2574) และเมื่อประชาพิจารณ์ครบทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว หลังจากนี้จะมีการปรับปรุงร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้สมบูรณสอดคล้องกับความต้องการของครู โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ในการสรุปเสนอคณะกรรมการสภาการศึกษา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และคาดว่าไม่เกินเดือนก.ย.2559 จะสามารถจัดพิมพ์และเผยแพร่ได้ และนำไปได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 เพราะฉะนั้นนับจากนี้ไป สกศ.จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อให้แผนมีความสมบูรณ์ที่สุด

“ความเห็นที่ได้จากการประชาพิจารณ์นั้น สกศ.จะนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างแผนให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน แต่ที่สำคัญอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ในเรื่องหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน ครู ผู้บริหาร การบริหารจัดการ ขอให้ความเห็นให้ครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการทำแผน ไม่ใช้เน้นเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น และในแผนการศึกษาแห่งชาติจะไม่ระบุชัดว่าจะต้องเรียนฟรีกี่ปี ใครจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ แต่จะพูดในเชิงหลักการเท่านั้น และที่สำคัญจะพูดถึงภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม ที่จะต้องเข้ามาร่วมกันสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาเราไปเน้นแต่เรื่องการรับการบริจาค แต่ขณะนี้เรามีรูปแบอื่น ๆ แล้ว ส่วนการจัดสรรงบประมาณจะจัดไปที่เด็กหรือที่โรงเรียนก็ต้องมีการพูดถึง โดยปัจจุบันจัดสรรไปที่โรงเรียน แต่อนาคตจะจัดสรรไปที่ตัวเด็ก เช่น คูปองการศึกษา เพื่อให้เด็กเลือกไปเรียนโรงเรียนไหนก็ได้ โรงเรียนก็จะต้องพัฒนาคุณภาพเพื่อให้เด็กอยากเข้ามาเรียนมากขึ้น และที่สำคัญจะต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนและโรงเรียนต้องอยู่ได้ด้วย”เลขาธิการ สกศ.กล่าว

ดร.กมล กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อห่วงใยในสถานะของครู ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยากให้ครูเป็นข้าราชการและอยู่ในระบบเหมือนเดิม ซึ่ง สกศ.ได้รับทราบและพร้อมที่จะนำกลับไปปรับปรุงแก้ไข แต่จุดมุ่งหมายเดิมของการกำหนดให้ “ครู” เป็น “พนักงานราชการ” หรือมีสถานะอื่นนั้น ไม่ได้หมายถึงโรงเรียนทั่วไปหรือครูส่วนใหญ่ แต่จะเป็นโรงเรียนบางประเภท ซึ่งวันนี้ยังไม่มี เช่น โรงเรียนนิติบุคคล โรงเรียนที่สอนสาขาเฉพาะที่ต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพิเศษ ซึ่งอาจมีอัตราจ้าง หรือไปสรรหาคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาและมีสถานะที่ไม่ใช่ข้าราชการครู ดังนั้นจึงอยากครูทุกคนสบายใจว่ายังใช้ระบบเดิมในการคัดเลือกครู รวมถึงการแต่งตั้งผู้บริหารก็ยังใช้ระบบเดิม อย่างไรก็ตามเมื่อครูมีความกังวลกันมากก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะตัดส่วนนี้ออก