“สิงห์ ปาร์ค” โมเดลธุรกิจคู่สังคม อยู่รอดร่วมกันอย่างยั่งยืน

“สิงห์ ปาร์ค” โมเดลธุรกิจคู่สังคม อยู่รอดร่วมกันอย่างยั่งยืน

องค์กรยักษ์ใหญ่พรั่งพร้อมทรัพยากร เงิน คน องค์ความรู้ หากแบ่งปันสรรค์สร้าง “กิจการเพื่อสังคม”สิ่งที่ตอบกลับมา คือ ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อย ที่มีความ “มั่งคั่ง” ติดอันดับบนบิลบอร์ดของโลก ทว่ายังมีองค์กรอีกมากที่ยังไม่ตระหนักถึงการทำ “กิจการเพื่อสังคม” หรือ Social Enterprise (SE) ส่วนหนึ่งอาจเพราะข้อจำกัดของธุรกิจ ทั้งการให้ความสำคัญกับการเติบโต โดยเฉพาะ รายได้ และยอดขาย มากเกินไป จึงละเลยสังคม ขณะที่บางบริษัทประเมินองค์กรว่า รวยก่อนแล้วค่อยทำเพื่อสังคม นี่เป็นมุมมองจาก “ดร.บัณฑิต นิจถาวร” กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

ซึ่งเพื่อให้ภาคธุรกิจพลิกประเด็นคิดเสียใหม่ หากธุรกิจต้องการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับสังคมที่ตนเองทำธุรกิจอยู่ด้วย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD) จึงร่วมกับบริษัท สิงห์ปาร์ค เขียงราย จำกัด จัดงาน Luncheon Briefing "How can Corporate Directors Help Nurture Social Enterprise” เพื่อกระตุ้นให้องค์กรซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรมนุษย์ เงินทุน องค์ความรู้ มา “ฉุกคิด” เรื่องการทำกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น

ดร.บัณฑิตบอกว่า การทำธุรกิจเพื่อสังคมควรอยู่บนพื้นฐาน 3 ประการ คือ 1.มุ่งช่วยสังคมแก้ไขปัญหาที่มีอยู่จริง ไม่ใช่ทำตามใจชอบ โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ คนในชุมชนไม่มีงานทำ ขาดรายได้ และสิ่งแวดล้อมเสียหาย 2.การช่วยเหลือต้องไม่ใช่การให้เปล่า ทำบุญหรือการกุศล แต่ต้องมองเป็น “ธุรกิจที่ส่งผลต่อสังคม” เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน และ 3.ควรฝังธุรกิจเพื่อสังคมให้อยู่ในยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของบริษัท ไม่ใช่ทำขึ้นแค่ชั่วครั้งคราวเท่านั้น

โดยตัวอย่างที่น่าสนใจของธุรกิจเพื่อสังคมที่ IOD หยิบยกมาศึกษาคือ “โครงการสิงห์ ปาร์ค เชียงราย” ของกลุ่มบุญรอด บริวเวอรี่ ซึ่งนำที่ดินราว 7,000-8,000 ไร่ ในจังหวัดเชียงรายมาพัฒนาเป็นโครงการน้ำดีเพื่อสังคม

คำถามที่ผุดขึ้นในความคิดของ “สันติ ภิรมย์ภักดี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ปรารภขึ้นกับ “รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ” อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าจะนำผืนดินแผ่นใหญ่ดังกล่าวไปพัฒนาอะไร “เพื่อสังคม” ได้บ้าง เขาเล่าและให้คำแนะนำในฐานะนักวิชาการ คือย้อนมาดู “ปัญหา” ของจังหวัดเชียงราย ว่ามีอะไรบ้าง

ซึ่งสิ่งที่ประจักษ์ชัดคือ ประชาชนจำนวนมากในเชียงรายยัง “ยากจน” โดยเฉพาะผู้คนรอบพื้นที่ของไร่นี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาหลากหลายชนเผ่า ไร้อาชีพ ไร้รายได้ อีกปัญหาสำคัญที่พบคือ เชียงรายยังขาดสินค้าที่เป็น “เอกลักษณ์” และ หากให้นึกถึงแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ยากจะคิดออก นอกเสียจากเรื่องราวของบรรพบุรุษสร้างไว้ให้

ครั้นขบคิดได้ว่า “แหล่งท่องเที่ยว” จะเป็นที่มาของการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ให้คึกคักขึ้นได้ เลยตกผลึกมาร่วมกันพัฒนา “สิงห์ ปาร์ค” หรือไร่บุญรอดให้เกิดขึ้น

ทว่าสิ่งสำคัญคือ “จะต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของสิงห์ ปาร์ค ที่เกิดขึ้นนี้ด้วย” รศ.ดร.วันชัย ย้ำแนวคิดและขยายความว่า ต้องดึงผู้คนที่อยากทำงานมาเป็นสมาชิกของสิงห์ ปาร์ค และให้มาเรียนรู้ร่วมกันให้ได้ โดยจากจุดเริ่มต้นของการทำเกษตร ปัจจุบันที่นี่ยกระดับสู่การทำไร่ชา สวนผลไม้นานาชนิด พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ทั้งเพิ่มอุปกรณ์และกิจกรรมต่างๆ ในไร่แห่งนี้ให้เพิ่มมากขึ้น

“มันเกิดผลกระทบ 2 อย่าง คือ คนในพื้นที่มีงานทำอย่างมีความสุข ควบคู่กับการเกิดธุรกิจท่องเที่ยวใหม่ในจังหวัด ซึ่งนี่เกิดจากเจตนารมณ์เบื้องต้นที่ต้องการให้สังคมดีขึ้น และไม่ใช่แค่สังคมดี แต่ดีขึ้นทั้งจังหวัดด้วย” เขาบอก 

ต้องยอมรับว่า การทำกิจการเพื่อสังคมนั้นมีการ “ลงทุน” ดังนั้นคอนเซ็ปต์ที่ทำจึงต้องมี “กำไร” หรือผลตอบแทนของการลงทุน(ROI) กลับมาให้ธุรกิจสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และมีเงินมาหมุนเวียนในกิจการ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

สำหรับโครงการสิงห์ปาร์ค นั้นนับได้ว่า เป็นการสร้างผลลัพธ์ในทุกมิติ ทั้ง ประชาชนและชุมชุน, สิ่งแวดล้อม และกำไร

Social Enterprise ต้องยั่งยืน ในการทำอะไรก็ตามต้องคิดเสมอว่าถ้าสังคมนี้ไม่มีความสุข แล้วเราจะอยู่อย่างไร ในขณะที่เรามีฐานะ มีกำไร พอช่วยสังคมได้ จึงเป็นหน้าที่ๆ จะนึกถึงสังคม เพราะเราคงไม่สามารถอยู่วิลล่าใหญ่ๆ ท่ามกลางสลัมได้ ดังนั้นการทำให้รอบบ้านมีความสุข เราก็จะสุขด้วย”

เขาอธิบายถึงแนวคิดกิจการเพื่อสังคม และย้ำกุญแจแห่งความสำเร็จของโครงการว่า

‘ทำให้เขามีความสุข เราก็มีความสุขด้วย’

4ปีของการพัฒนาโครงการสิงห์ปาร์ค เชียงราย ภายใต้นิยาม สิงห์พาร์ค เชียงราย โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์” บริษัทใช้เงินลงทุนไปกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อแปลงโฉมพื้นที่เกษตร มาสู่แหล่งเพาะปลูกชานับร้อยไร่ ปลูกผลไม้นานาพันธุ์ พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงราย “พงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด บอกเราว่า โจทย์ยากลำดับต้นๆ ที่ต้องพบเจอในการทำกิจการเพื่อสังคม มีหลายมิติ ทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์ ที่จะริเริ่มทำเพื่อยกระดับให้เกิดการยอมรับในระดับนานาชาติ การทำให้เกิดความยั่งยืน รวมไปถึงการปรับทัศนคติและความเข้าใจ ของคู่ค้า และองค์กร ให้คิดเหมือนกันด้วย เหล่านี้เป็นต้น

ผ่านจุดเริ่มต้นจนถึง 4 ขวบปี สิงห์ปาร์ค ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดเชียงรายให้เติบโตขึ้น 2-3% ต่อเนื่อง 3 ปี สร้างรายได้ให้ผู้คนเพิ่มขึ้น จำนวนสายการบินเพิ่มจาก 4 เที่ยวต่อวัน มาเป็น 21 เที่ยวต่อวัน โดยในปีที่ผ่านมา โรงแรมที่เคยขายได้น้อยเดือน กลับเพิ่มระยะเวลาทำเงินได้มากขึ้น มีอัตราค่าเข้าพักที่เพิ่มขึ้นด้วย เป็นต้น

3 ปีแรกการดำเนินโครงการ สิงห์ปาร์ค ยังไร้ซึ่งผลตอบแทนกลับคืนสู่บริษัท กระทั่งปีที่ 4 ก็เริ่มเห็นตัวเลข “กำไร” เพื่อนำไปพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด บริษัทลงทุน 50 ล้านบาท เพื่อพัฒนาบ้านพักคนงาน เพื่อรองรับคนทำงานประจำนับพันชีวิต ให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสุขอนามัยที่ดี ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้เพิ่มมากขึ้น

“สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในแง่ที่พักอาศัย เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตให้คนงาน ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เขาควรอยู่ในที่ๆ ควรอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัย 4 จริงๆ  ไม่ใช่ทำงานแล้วกลับไปอยู่ในที่ๆ เรียกว่า ที่ซุกหัวนอนเท่านั้น”

นอกจากเชียงราย บุญรอดฯ ยังพัฒนาพื้นที่รอบโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ภายใต้นิยาม ‘อุตสาหกรรม กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน’ และยังมีแผนจะทำธุรกิจเพื่อสังคมกระจายไปยังพื้นที่อื่นอย่างต่อเนื่องด้วย

ส่วนโครงการสิงห์ปาร์คจะพัฒนาถึง “ขั้นสุด” เมื่อไหร่ เขาตอบเพียงว่า..

“คุณสันติเคยพูดว่า จะไม่มีภาพสุดท้าย เพราะการพัฒนาที่นี่จะถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปเรื่อยๆ”  

และนั่นคือคำยืนยันของพวกเขา