'นิด้าโพล'เผย ปชช.หนุนนายจ้าง หักเงินคืนหนี้กยศ.

'นิด้าโพล'เผย ปชช.หนุนนายจ้าง หักเงินคืนหนี้กยศ.

"นิด้าโพล" หนุนให้นายจ้าง หักเงินจ่ายคืนหนี้กยศ. ปัดข้อเสนอ "ปลัดคลัง" ไม่ต่ออายุบัตรประชาชนให้คนเบี้ยวหนี้ ชี้ละเมิดสิทธิ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “แนวทางการตามหนี้ กยศ.จากผู้ที่ยังคงค้างชำระอยู่ทั่วประเทศ 2 ล้านคน วงเงิน 52,000 ล้านบาท” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29-30 มี.ค.ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.24 ไม่เห็นด้วยเลยกับกรณีที่ปลัดกระทรวงการคลัง เสนอให้ไม่ต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเงิน กยศ.แต่ไม่ชำระคืน ขณะที่ร้อยละ 30.32 ระบุเห็นด้วยมาก และร้อยละ 14.56 ไม่ค่อยเห็นด้วย โดยในจำนวนผู้ที่ค่อนข้างเห็นด้วย-เห็นด้วยมาก ให้เหตุผลว่า ควรออกกฎข้อบังคับเพื่อให้ผู้ที่ยังคงค้างชำระมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง และจะได้มีกองทุนไว้สำหรับรุ่นต่อ ๆ ไป

ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยเลย ให้เหตุผลว่า เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป หากไม่ต่ออายุบัตรประชาชน ก็จะไม่สามารถติดต่อธุระต่าง ๆ ได้ และอาจเป็นช่องโหว่ของการก่ออาชญากรรม บางคนที่ยังค้างชำระอาจมีรายได้น้อย เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ควรแก้ไข ด้วยวิธีอื่น เช่น การเสียค่าปรับ หรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

ทั้งนี้ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.26 ระบุเห็นด้วยมากกับข้อเสนอการตามหนี้ กยศ. คล้าย ๆ กับการหักภาษี ด้วยการออกกฎหมาย กำหนดให้เจ้าของบริษัท หรือหัวหน้าส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่าย ผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ. รองลงมา ร้อยละ 22.56 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะถือว่ามีการทำงานและมีรายได้ที่แน่นอนแล้ว เป็นการบังคับจ่ายไปในตัว เมื่อยืมมาแล้วก็ต้องคืน จะได้ยุติธรรมทั้งผู้ให้ยืม ผู้ยืม และจะได้นำเงินที่ได้คืนมาให้ผู้อื่นได้กู้ยืมต่อไป เป็นการสร้างมาตรฐาน และแนวทางในการคืนที่ดีที่สุด ง่าย และสะดวกต่อการคืนชำระเงิน มีเพียงร้อยละ 6.72 ไม่เห็นด้วยเลย โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากบางคนยังมีรายได้น้อย หรือมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่ หากหักไปแล้วจะไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นในแต่ละเดือน และยังเป็นการเพิ่มภาระการจัดการของหน่วยงาน/องค์กรอีกด้วย

สำหรับสาเหตุของปัญหาการค้างชำระหนี้ กยศ. นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.76 ระบุว่า ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย ไม่สามารถชำระหนี้ได้ รองลงมา ร้อยละ 31.04 ระบุว่า ผู้กู้ยืมเงินไม่มีจิตสำนึก ร้อยละ 6.32 ระบุว่า บทลงโทษผู้ไม่ชำระหนี้ กยศ. ไม่รุนแรงจึงไม่มีใครกลัว

ส่วนประเด็นการกำหนดบทลงโทษสถาบันการศึกษาที่มีผู้ค้างชำระหนี้ กยศ. จำนวนมากนั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.44 ระบุไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 16.64 ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเป็นความรับผิดชอบและจิตสำนึกของผู้กู้ยืมเองทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวสถาบันการศึกษา ซึ่งสถาบันการศึกษามีหน้าที่เพียงแค่ติดต่อและยื่นเรื่องประสานงานไปยัง กยศ. เท่านั้น ไม่ควรมีบทลงโทษแต่อย่างใด ขณะที่ร้อยละ 15.52 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะสถาบันการศึกษาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการพิจารณา หรือกำหนดเกณฑ์ผู้ขอกู้ยืม ก็ควรที่จะมีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบหรือติดตามผู้ที่ยังค้างชำระ บางส่วนมองว่าสถาบันการศึกษายังขาดการประชาสัมพันธ์ในการชี้แจงถึงช่องทางการชำระเงิน