นายกฯหนุนข้อเสนอ'ประวิตร' สว.สรรหาอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน5ปี

นายกฯหนุนข้อเสนอ'ประวิตร' สว.สรรหาอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน5ปี

นายกฯเห็นด้วยข้อเสนอ"พล.อ.ประวิตร" ให้ส.ว.สรรหาอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี บอกต่างประเทศก็ทำกัน ย้ำไม่ได้มาจับผิดรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้มีสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการสรรหาทั้งหมดทำงานในช่วง 5 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านว่า ต้องไปดูต่างประเทศ ซึ่งเขาก็ทำแบบนี้ มีหลายประเทศก็ทำ วันนี้เราต้องถามย้อนกลับว่าประเทศชาติของเรามีปัญหาหรือไม่ หรือสื่อคิดว่ามันไม่มีอะไรเลย ดีทุกอย่าง ดีเลิศประเสริฐศรี

"ผมเคยพูดมาตั้งนานแล้วว่ามันมีปัญหาจึงต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนผ่าน ถึงได้พูดตลอดว่ารัฐธรรมนูญก็ว่ากันไป บทเฉพาะกาลก็แยกออกมาว่าจะทำอย่างไร คำว่า 5 ปี นั้น ถ้าเขาอยู่ได้ 5 ปีจริง เขาก็ทำหน้าที่ของเขาในฐานะส.ว. ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่วมกับส.ส. ทั้ง 2 สภา เพราะฉะนั้น ถ้ามีอะไรที่เป็นประเด็นปัญหา เขาก็แค่ขอเปิดประชุมสภา เพื่อพิจารณาโดยอภิปราย ซึ่งไม่ใช่อภิปรายเรื่องการทุจริตเพียงอย่างเดียวก็ต้องมาพูดคุยด้วยว่าแผนปฏิรูปที่ทำมาทำไปแค่ไหนแล้วอย่างไร มีการชี้แจงมา ถ้ายังไม่ทำก็ต้องไปทำมา ซึ่งผมคิดว่าท่านรองประวิตรก็เข้าใจเช่นเดียวกับผม เพราะคิดเหมือนกันอยู่แล้ว เพียงแต่พล.อ.ประวิตรมีความคาดหวังว่า ไม่ต้องการให้ปัญหาลุกลามบานปลาย ถ้าปล่อยให้เป็นแบบเดิม ส.ว.และ สส.ต่างก็เลือกเข้ามามีญาติพี่น้อง มีลูกเมีย มันก็ไปด้วยกันหมด ประเทศชาติมันก็แกว่ง มันไปไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปจับผิดรัฐบาล แต่เป็นการช่วยรัฐบาลในการประเมินผลงานของรัฐบาล หน้าที่ของ ส.ว.เป็นเช่นนี้ หน้าที่อีกอย่างคือการเปิดประชุม 2 สภา เรื่องนี้คิดว่ามันเป็นหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.หรือ ส.ส. หน้าที่แรกคือการดูเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในการทำงาน รวมทั้งการเดินยุทธศาสตร์ของประเทศ"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินยุทธศาสตร์ประเทศนั้น มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ในการทำนั้นก็เป็นเพียงการเขียนข้อหลักๆ ไว้ เหมือนการนำแผนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ๆ มาบรรจุไว้ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงของประเทศ ยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี ซึ่งในทุก 5 ปี สภาพัฒนฯก็จะมาทำเพื่อเขียนแผนให้สอดคล้อง ซึ่งในเรื่องปฏิรูปตนเน้นย้ำว่าให้มีความสอดคล้องในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ไม่ว่ารัฐบาลไหน เราต้องเดินหน้าอย่างมีขั้นตอน ตนไม่ได้ไปล็อคอะไรตรงไหนเลย ถ้าทำตามนี้ไม่ว่าจะมากหรือน้อยแล้วก็ต้องไปพิจารณาในสภาอยู่ดี ไม่ใช่เปิดอภิปรายก็เอาแต่เรื่องทุจริตไม่เห็นทำอะไรได้สักอย่าง ก็ได้แต่เปิดอภิปรายแค่นั้น วันนี้เราต้องมาพูดคุยเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ใช่จะเอา ส.ว.มาเพื่อจับผิด ส.ว.ไปทำหน้าที่แทนประชาชน สานต่องานที่เราทำไว้ ตนในฐานะผู้นำรัฐบาลและหัวหน้า คสช.ต้องทำให้เกิดความเข้าใจ และตนต้องรับผิดชอบทั้งหมด และต้องทำความเข้าใจบ้างเป็นครั้งคราว

"วันนี้ถ้าเรามองยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างทั้งน้ำ อากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะเศรษฐกิจโลก เราก็ต้องกลับมาดูประเทศของเราว่าแผนยุทธศาสตร์มีความสอดคล้องกับโลกแค่ไหนอย่างไร เราต้องเอาหลักการของยูเอ็นมาปฏิบัติ โดยเฉพาะการพัฒนาในสหศวรรษหน้าตั้งแต่ปี 2559 อีก 15 ปีมีถึง 169 เป้าหมาย ตามกรอบของกลุ่มประเทศจี 77 โดยหยิบยกแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจเพื่อเป็นทางเลือกทางหนึ่งให้กับโลก ในฐานะที่เราเป็นประเทศเกษตรกรรม ทุกฝ่ายจะต้องมีความเข้าใจและร่วมมือกันในการเดินหน้าและพัฒนาประเทศ ซึ่งผมเข้าใจเรื่องการเมืองและการดำเนินการทางการเมือง แม้ผมจะไม่ใช่นักการเมืองก็ตาม ก็ได้ศึกษามารู้ว่าเขาก็ต้องเดินของเขา ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แล้วเดิน 2 ขาไม่ได้หรือ ขาหนึ่งเพื่อประเทศชาติ อีกขาหนึ่งก็เพื่อพรรคของท่าน จะอยู่ในอำนาจเท่าไหร่ก็ว่ามา ผมไม่ได้ไปห้าม ทั้งนโยบายพรรคและนโยบายต่างๆ แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่านโยบายพรรคที่ทำนั้น ทำแล้วจะเอาเงินที่ไหนและเกิดประโยชน์กับใครบ้าง ต้องแยกแยะ จริงๆ ไม่อยากจะกล่าวอ้าง สมมติว่าจะมีการเดินนโยบายเกี่ยวกับเรื่องจำนำแล้วคนที่ทำอาชีพอื่นจะได้อะไรจากนโยบายพรรคตรงนี้ นโยบายพรรคควรเดินไปตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการปฏิรูปประเทศ ถ้าใครหาเสียงแบบนี้ผมจะเลือกเข้ามา"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประชุมกนจ.วางอนาคตประเทศเดินหน้าทุก 5 ปี       

นายกฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า การประชุมกนจ.วันนี้เราจะทำอย่างให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าอย่างมีอนาคตทุก 5 ปี ตนต้องการให้วางแนวทางไว้ ให้มีนโยบายในการปฏิบัติ ทั้งในเรื่องงบประมาณ เรื่องของแผนงานโครงการที่จะต้องมีการประสานสอดคล้องกัน และต้องการให้ทุกภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกมีความเข้มแข็งในตัวเอง ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยในการผลิต ทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่าง เราคิดกันดูแล้วว่า ที่มีมาตรการไม่ว่าจะเป็นการโซนนิ่ง จะต้องทำให้ทั้งระบบมีการสอดคล้องกันทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ในแต่ละภูมิภาคเขาจะได้เข้มแข็งในตัวเขาเอง ไม่ต้องไปแย่งการผลิตสินค้า ไม่ต้องไปเอามาจากที่นู่นที่นี้ จะได้เกิดความแตกต่างหลากหลาย มีการพัฒนาในเรื่องของนวัตกรรม โดยเฉพาะสินค้า จีไอ ที่มีต้นกำเนิดมาจากแต่ละพื้นที่ เรื่องนี้สำคัญ ซึ่งวันหน้าจะต้องปรับรูปแบบของเราในเรื่องของรายได้ประเทศ ที่ไม่ใช่เรื่องการเกษตรอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นเกษตรอุตสาหกรรม การแปรรูป หรือรับจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูป

"สิ่งที่กังวลคือ เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เรามีต้นทุนไม่มาก น้ำที่ได้จากน้ำฝนทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าลดลงในแต่ละปี และนับวันก็น้อยลงไปเรื่อย ๆ อันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนแปลงท่าน โดยที่ท่านปรับตัวไม่ได้ เราค่อย ๆ ทำไป ตรงนี้เป็นการวางยุทธศาสตร์ที่เริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น เป็นการบริหารจัดการอยู่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการ กนจ.ก็รับไปอยู่แล้วทุกภาคส่วนมีการหารือร่วมกัน มีการเสนอแผนมา"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว