กสทช.ถกคืนไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล 16 ก.พ.

กสทช.ถกคืนไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล 16 ก.พ.

กสทช.ถกแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล 16 ก.พ. เผยมี 3 ประเด็น"เลื่อนจ่ายเงินประมูล-ขยายเวลาใบอนุญาต-คืนใบอนุญาตก่อนสิ้นสุด"

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สรุปแนวทางการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล จากการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด โดยวานนี้ (10ก.พ.) สำนักงาน กสทช. ได้เสนอวาระเพื่อทราบ กรณีการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล โดยจะมีการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานอีกครั้งในวันอังคาร ที่16ก.พ.นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่าขั้นตอนการทำงานเรื่องการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล หลังจากนี้ สำนักงานฯ จะประชุมหารือร่วมกับ3หน่วยงานรัฐ คือ ผู้แทนกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับแนวทางที่คณะทำงานฯ เสนอ11ประเด็น ในวันจันทร์ที่15 ก.พ.นี้ 

โดยมี 3 ประเด็น ที่ต้องหารืออย่างรอบคอบ คือ1.การเลื่อนจ่ายเงินประมูลทีวีดิจิทัลงวดที่ 3 ซึ่งจะถึงกำหนดในเดือน พ.ค.นี้ 2.การขยายเวลาใบอนุญาตทีวีดิจิทัล โดยให้เริ่มนับอายุปีแรกในวันที่24พ.ค.2558หลังมีการขยายโครงข่ายและแจกคูปอง จากเดิมเริ่มนับอายุปีแรกวันที่24พ.ค.2557 และ3.การคืนใบอนุญาตก่อนสิ้นสุดอายุ15ปี

"แนวทางการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล หลายเรื่องมีความเสี่ยงพอสมควร โดยเฉพาะด้านกฎหมายจึงต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานรัฐ เพื่อสรุปข้อมูลเสนอให้ กสทช. พิจารณา ก่อนจะมีการประชุมบอร์ด ในวันที่16ก.พ.นี้ คาดสรุปการแก้ปัญหาได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ ย้ำว่าแนวทางที่จะดำเนินการรัฐจะต้องไม่เสียประโยชน์"

นายฐากร กล่าวว่า ในการประชุมหารือร่วมกับคณะทำงานฯ รวม3ครั้ง ประเด็นสำคัญคือแนวทางการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ของกลุ่มผู้รับใบอนุญาต ที่ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ซึ่งหากไม่มีแนวทางการแก้ปัญหา โดยยึดตามประกาศฯเดิม กลุ่มนี้อาจต้องเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับ บริษัทไทยทีวี จำกัด ที่ไม่สามารถจ่ายเงินประมูลค่าใบอนุญาตได้ และต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ ตามแนวทางที่คณะทำงานแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลเสนอ กรณีการคืนใบอนุญาต โดยผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องจ่ายเงินประมูลงวดที่เหลืออีก4งวด คือตั้งแต่งวดที่3-6หากแนวทางดังกล่าวสามารถดำเนินการได้จริง คาดว่ามีผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล5ช่อง มีแนวโน้มขอคืนไลเซ่นส์เนื่องจากมีการเข้ามาหารือกับ สำนักงาน กสทช.ก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่รวมช่องไทยทีวีและโลก้าที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว หากมีการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล คณะทำงานฯมีความเห็นตรงกันว่า จะไม่นำคลื่นความถี่ฯ กลับมาประมูลใหม่

"หากไม่มีแนวทางการแก้ไขประกาศฯ ให้ทีวีดิจิทัล สามารถคืนใบอนุญาตได้ ผู้ประกอบการทั้งหมดคงไม่มีรายใดคืน แต่จะเลือกไปตายเอาดาบหน้า เพราะหากคืนไลเซ่นส์ โดยไม่แก้ไขประกาศฯ ต้องถูกยึดเงินค่าประมูลจากแบงก์การันตีทั้งหมด เหมือนช่องไทยทีวีและโลก้า"

หลังบอร์ด กสทช.พิจารณาสรุปแนวทางการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลแล้ว ประเด็นที่อยู่ภายใต้อำนาจ กสทช. จะดำเนินการได้ทันที แต่มีบางประเด็นที่อาจไม่อยู่ในอำนาจ กสทช.ซึ่งจะต้องนำเสนอให้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาเพื่อออกคำสั่งต่อไป

นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่า จำนวนช่องฟรีทีวีที่เพิ่มขึ้น4เท่าตัว จากการออกอากาศทีวีดิจิทัลในปี2557ส่งผลให้ธุรกิจสื่อทีวี มีการแข่งขันสูง ขณะที่เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาเท่าเดิม และขยายตัวต่ำจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการหารายได้ของทีวีดิจิทัลช่องใหม่ โดยเฉพาะ “ช่องเด็ก” ซึ่งมีข้อจำกัดในการหารายได้จากโฆษณา และอาจเป็นกลุ่มที่ผู้รับใบอนุญาต ต้องการคืนไลเซ่นส์ รวมทั้งช่องทีวีดิจิทัล ในกลุ่มที่มีเรทติ้งผู้ชมต่ำกว่าอันดับ15ซึ่งมีโอกาสได้รับงบโฆษณาไม่มาก อาจอยู่ในกลุ่มที่ต้องการคืนใบอนุญาตเช่นกัน

ปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาสื่อฟรีทีวี สัดส่วน 80%จะอยู่ในกลุ่มฟรีทีวีรายเดิมและ ทีวีดิจิทัล ที่มีเรทติ้งผู้ชมติดอันดับท็อปไฟว์ ดังนั้นกลุ่มที่มีเรทติ้งรองลงมาจึงมีโอกาสได้รับเม็ดเงินโฆษณาไม่มาก และกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทีวีในยุคที่มีการแข่งขันสูง