กอช.ชี้การออมภาคบังคับ ช่วยลดภาระดูแลคนชรา

กอช.ชี้การออมภาคบังคับ ช่วยลดภาระดูแลคนชรา

เลขาฯ กอช. เผย การออมภาคบังคับช่วยลดภาระดูแลคนชรา หลังประชากรวัยทำงานออมเงินระยะยาวน้อย

นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรวัยทำงานประมาณ 45 ล้านคน มีเพียง 10 ล้านคน วางแผนการออมเงินเพื่อรองรับใช้จ่ายระยะยาว และในจำนวนคนที่วางแผนไว้ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายในอนาคต เพราะหากต้องการให้มีเงินใช้จ่ายแบบสบายเหมือนกับปัจจุบันต้องมีเงินบำนาญประมาณร้อยละ 80 ของเดือนปัจจุบัน แต่หากใช้จ่ายแบบพอเพียงมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของเงินเดือนปัจจุบัน แต่พบว่าคนไทยในปัจจุบันยังวางแผนการออมน้อยมาก การออมภาคบังคับจึงต้องนำมาใช้ในยุคนี้

ขณะนี้กระทรวงการคลังศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อเป็นกองทุนภาคบังคับให้ประชากรหลายกลุ่มนำส่งเงินสมทบเข้า กบช. หวังลดปัญหาการจัดสรรงบประมาณรองรับค่าดำรงชีพของกลุ่มชราที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหลายแสนล้านบาทต่อปี หากชดเชยเข้ากองทุนปัจจุบันใช้เงินหลักหมื่นล้านบาท หากกระทรวงการคลังศึกษาแนวทางการตั้ง กบช.ได้แล้วจะทำให้ประชาชนหลายกลุ่มมีเงินบำนาญไว้ใช้เหมือนกับราชการ โดยมีทั้งการสมทบจากนายจ้าง รัฐบาล และสมาชิก เพื่อเป็นการออมพื้นฐานนอกเหนือจากกองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับการเปิดรับสมาชิก กอช.ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนระยะเวลา 4-5 เดือนที่ผ่านมามีการสมัครสมาชิกผ่าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน 400,000 ราย โดยปี 2559 ตั้งเป้าหมายระดมสมาชิกให้ได้ 1.5 ล้านราย จึงเจรจากับพันธมิตรสถาบันการเงินอื่นเพิ่มอีก 2-3 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ช่วยประชาสัมพันธ์ กอช. มุ่งหมายดึงกลุ่มสวัสดิการชุมชนในพื้นที่เข้าเป็นสมาชิก กอช. เพราะมีจำนวนสูงถึง 4 ล้านคน

เมื่อประชาชนสนใจสมัครสมาชิก กอช.แล้วจะเห็นความสำคัญต่อการเป็นสมาชิกกองทุน กบช.เพิ่มอีก เนื่องจากสะสมเงินเข้ากองทุน กอช. 13,200 บาทต่อปี สะสมต่อเนื่องจนเกษียณอายุ 70 ปี จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนรวมกับเบี้ยผู้สูงอายุ 1,300-1,400 บาท นับว่ายังพอมีใช้ยามชรา แต่เมื่อสมัครเป็นสมาชิก กบช. เพิ่มด้วยจะมีบำนาญไว้ใช้เพิ่มอีก ขณะที่ กอช.พร้อมรับเป็นผู้บริหารกองทุน กบช. โดยต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่ม