นักวิชาการชี้จุดอ่อนร่างรธน.กรธ. สร้างรัฐรวมศูนย์

นักวิชาการชี้จุดอ่อนร่างรธน.กรธ. สร้างรัฐรวมศูนย์

นักวิชาการด้านท้องถิ่น ชี้จุดอ่อนในร่างรธน.กรธ. ลดการกระจายอำนาจ สร้างรัฐรวมศูนย์ หวั่นทำระบบปกครองล้มเหลว แนะให้แก้ไข3ประเด็น

นายอุดม ทุมโฆสิต อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ในส่วนของการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นว่า ยังมีข้อบกพร่องและเนื้อหาที่ทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจโดยรัฐ หรือราชการส่วนกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น และศักยภาพของการพัฒนาของประชาชนในท้องถิ่นได้ รวมถึงอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการพัฒนาท้องถิ่นที่เป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่ได้ โดยประเด็นสำคัญที่กรธ.ไม่ได้บัญญัติไว้ คือ ความในมาตรา78ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550ว่าด้วยแนวนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐต้องดำเนินการ (3) กำหนดให้รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศในท้องที่ ให้ทั่วถึงและเท่าเท่ากันทั่วประเทศ รวมถึงกำหนดให้พัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนีงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น ทำให้อาจเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างกว้างขวาง และคนจนยิ่งจนมากขึ้น ดังนั้นเมื่อใครนำเงินมาให้เพื่อซื้อเสียงเลือกตั้งประชาชนจึงปฏิเสธไม่ได้

นายอุดม กล่าวด้วยว่า ขณะที่บทบัญญัติในหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น ตามร่างรัฐธรรมนูญ ของกรธ. ยังมีจุดอ่อน ทั้ง1.การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ดูแลและมีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหาภายในพื้นที่ได้เอง,2.การใช้ทรัพยากรในพื้นที่ รวมถึงเงินภาษีที่ได้จากท้องถิ่นต้องจัดสรรให้กับท้องถิ่นนั้นๆ มากกว่าที่นำส่งเข้าส่วนกลาง เพื่อให้พื้นที่สามารถนำไปพัฒนาและแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งระบบดังกล่าวหากปรับได้เชื่อว่าจะลดการวิ่งเต้นของท้องถิ่นต่อการของบประมาณส่วนกลาง ซึ่งจะเป็นการปิดช่องทุจริตงบประมาณได้ และ3.การปฏิบัติงานของท้องถิ่นที่ที่เป็นอิสระและเหมาะสมกับการพัฒนา ที่ผ่านมายอมรับว่าหน่วยงานกลางให้นโยบายพร้อมเงินกับท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นมีความต้องการแก้ปัญหาอีกแบบ ทำให้การตรวจสอบโดยสตง. นั้นสร้างปัญหาว่าใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นเมื่อยังมีจุดอ่อนและยอมให้รัฐส่วนกลางเป็นใหญ่ เชื่อว่าระบบการปกครองในเมืองไทยจะล้มเหลวยิ่งขึ้นไปอีก

"ส่วนการปิดกั้นเวทีวิชาการของสถาบันการศึกษาต่อการแสดงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งผมมองว่าประเด็นนี้ต้องให้ความเคารพอย่างมาก หากยังคงละเมิดอาจทำให้เกิดผลกระทบได้ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญของกรธ. ที่ปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ จำเป็นต้องมีคำอธิบายจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และหากประชาชนไม่เข้าใจ และยังปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติได้ และเมื่อเกิดปรากฎการที่นักวิชาการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยิ่งทำให้แนวโน้มของการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญในสังคมเกิดขึ้นได้ หากถึงจุดนั้นรัฐบาลจะถึงจุดอับ ประเทศชาติไม่มีทางออกในที่สุด ดังนั้นขอให้กรธ.เปิดใจกว้างต่อการนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมกับการพัฒนาในอนาคตด้วย" นายอุดม กล่าว