วิกฤติภัยแล้ง คนกรุงฯใช้น้ำเปลือง

วิกฤติภัยแล้ง คนกรุงฯใช้น้ำเปลือง

กระทรวงพลังงาน ระบุ คนกรุงเทพมหานครใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 200 ลิตร ขณะที่คนต่างจังหวัดหรือคนชนบท ใช้น้ำเพียงวันละ 50 ลิตร

ผลพวงจากภาวะภัยแล้งตั้งแต่ปี 2558 ต่อเนื่องมาปี 2559 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับการเก็บน้ำสำรองของประเทศที่ยังคงเท่าเดิม ทำให้ปัญหาน้ำเข้าขั้นวิกฤติและคุกคามประเทศไทย คำยืนยันจาก รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวะกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤติอย่างหนัก

ส่งผลทำให้น้ำในเขื่อนหลายพื้นที่เริ่มแห้งขอด ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหนัก อีกทั้งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของประชาชนมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อยๆ มีความกังวลของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จึงมีความพยายามรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมารัฐบาลขอความร่วมมือจากประชาชนต่างจังหวัดและพื้นที่ชนบท ให้ประหยัดน้ำ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะมาถึง โดยเฉพาะการขอความร่วมมือชาวเกษตรกร ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกข้าวหรือพืชที่ใช้น้ำมาก เปลี่ยนมาเป็นการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน หรือหันมาทำการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจและการประมงตามแหล่งน้ำที่ได้จัดเตรียมไว้ เพื่อลดความเสี่ยงความเสียหายของพืชผลที่เกิดจากภัยแล้ง

ข้อมูลจากการประปานครหลวง พบว่า ในแต่ละวันคนไทยใช้น้ำ 120 ลูกบาศก์เมตร. ต่อคน เป็นตัวเลขที่สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน

มีการตั้งข้อสังเกตจากประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด ว่าในขณะที่มีการเรียกร้องให้พวกเขาช่วยกันประหยัดน้ำแต่เหตุใดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมลฑล กลับไม่พบความพยายามในการประหยัดน้ำเท่าที่ควร ทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่าขณะที่ประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลใช้น้ำจำนวนมากในแต่ละวัน แต่ประชาชนต่างจังหวัดกลับต้องประหยัดน้ำเพื่อเอาไว้ใช้ในยามแล้ง มีแนวโน้มว่าอาจต้องประกาศจำกัดการใช้น้ำของคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในการทำกิจกรรมที่สิ้นเปลือง

หลายธุรกิจที่มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณมากในกรุงเทพมหานคร เช่น ธุรกิจอาบอบนวด ที่มีกว่า 200 แห่ง เฉลี่ยแห่งละ 200 ห้อง ธรุกิจโรงแรมต่างๆ อีกกว่า 50,000 ห้อง ธุรกิจสนามกอล์ฟ ที่มีกว่า 241 สนาม ธุรกิจนี้ ใช้น้ำปีละ 360 ล้านกบาศก์เมตร

อีกธุรกิจหนึ่งที่ถูกมองว่าใช้น้ำเปลือง คือ สถานบริการล้างรถ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจและมีคนใช้บริการเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน หากภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤตจริง ธุรกิจนี้อาจเป็นธุรกิจลำดับต้นๆ ที่จำเป็นต้องหยุดการใช้น้ำ มีเสียงเรียกร้องให้เจ้าของธุรกิจ มีมาตรการในการประหยัดน้ำ ซึ่งหลายเเห่งมีความพยายามในการปรับตัว

เจ้าของสถานบริการล้างรถแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท เปิดเผยว่า การทำธุรกิจนี้ขึ้นอยู่ที่เจ้าของจะเลือกอุปกรณ์ในการฉีดน้ำรุ่นไหน เพราะมีบางรุ่นที่ประหยัดไฟแต่เปลืองน้ำ กับรุ่นที่เปลืองน้ำแต่ประหยัดไฟ สำหรับวิกฤตภัยแล้ง ในแต่ละปีธุรกิจนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ และมีความพยายามในการประหยัดน้ำ

“เราใช้ตัวฉีดน้ำรุ่นประหยัดน้ำ ก็เลยไม่กระทบเท่าไหร่ มันจะมีหลายรุ่น ที่ว่าประหยัดน้ำหรือประหยัดไฟ แต่ที่ร้านใช้อยู่ ตัวนี้มันจะหนักเรื่องไฟแต่จะประหยัดน้ำ โดยเฉลี่ยแล้วเดือนก็สองพันกว่าบาท ถ้าหารเป็นรายวันก็ตกวันละร้อยกว่าบาท / แต่ก็ดูส่วนที่ว่ามันประหยัดระยะยาว ถ้าเป็นเครื่องนั้น ไม่แน่ใจว่าใช้ระบบหมุนเวียนหรือเปล่า แต่คิดว่าน่าจะเปลืองกว่าของร้าน ” เจ้าของสถานบริการล้างรถ กล่าว

ใน 1 วัน มีผู้ใช้บริการสถานบริการล้างรถ 40 – 60 คัน ใน 1 เดือนจะมีรถประมาณ 1800 คัน เข้าใช้มาบริการ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลจะมีรถเข้ามาใช้บริการมากที่สุดถึง 2500 คัน แตกต่างจากชาวจังหวัดปทุมธานี ที่มีความพยายามประหยัดน้ำตามที่รัฐบาลมีการรณงค์ ในแต่วันพวกเขาต้องใช้น้ำอย่างประหยัด ทุกครั้งที่ฝนตกจะนำโอ่งมารองน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างประหยัด

อย่างเช่น ชาวคลอง 6 อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี รายหนึ่ง มีการรองน้ำฝนไว้ในโอ่งจำนวนมาก เพื่อใช้ดื่มกินในชีวิตประจำวัน โดยทำแบบนี้มาตั้งแต่สมัยรุ่นแม่สืบทอดกันมาเพราะถือว่าเป็นการประหยัดน้ำได้ไม่น้อย

“ ป้าก็เตรียมตัวของป้า น้ำป้าก็มีใช้ มีโอ่งรองน้ำ ถ้าสุมมติว่าปีนี้แล้งอีก ปัญหาย่อมมีแน่ แต่เรามีน้ำดื่มพอ แต่ถ้าคนทำเกษตรเขาเดือดร้อน ”ชาวคลอง 6 กล่าว

ไม่แตกต่างจาก ชาวคลอง 13 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ที่นำน้ำจากคลองชลประทานมาใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงรองน้ำฝนไว้ในโอ่งเพื่อใช้หุงต้มทำอาหารรับประทานในครอบครัว

“ป้าก็รองน้ำฝนใช้อาบน้ำ ซักผ้า ใช้ดื่ม น้ำในคลองป้าก็เอามาใช้ ใส่สารส้มให้มันตกตะกอน เอาน้ำรองไว้ในตุ่มมันไม่เปลืองดี ก็อยู่แบบนี้ ” ชาวคลอง 13 กล่าว

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า คนกรุงเทพมหานครใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 200 ลิตร ขณะที่คนต่างจังหวัดหรือคนชนบท ใช้น้ำเพียงวันละ 50 ลิตร ถ้าคนกรุงเทพใช้น้ำลดลงได้เหลือ 70 ลิตรต่อวัน ซึ่งมีประชากรจำนวนประมาณ 10 ล้านคน ก็จะประหยัดน้ำได้วันละ 1,300 ล้านลิตร