เปิดปมลึกปะทะหาดราไวย์

 เปิดปมลึกปะทะหาดราไวย์

เปิดปมปะทะเดือดขัดแย้ง"หาดราไวย์" ปัญหาใหญ่ออกโฉนดทับที่ชาวเล

แม้ว่าความขัดแย้ง กรณีกลุ่มชายฉกรรจ์ใช้ทั้งไม้และก้อนหิน เข้าตะลุมบอนกับชาวไทยใหม่ หรือชาวอูรักลาโว้ยชาวเลพื้นเมืองดั้งเดิมหาดราไวย์ ที่เข้ามาขัดขวางไม่ให้กลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 50 คน ใช้รถแบ็คโฮขนหินมาปิดเส้นทางเข้าออกหาดราไวย์ พื้นที่หมู่ 2 ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จนรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ต้องนำกำลังตำรวจและทหารเข้าระงับเหตุ ผลก็คือชาวบ้านได้รับบาดเจ็บนับ 10 คน

จบลงชั่วคราว เมื่อจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดาผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เรียกทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาเจรจาหาข้อยุติ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยชาวไทยใหม่ต้องการให้เอกชนเปิดทางให้ชาวเลราไวย์ใช้สัญจรในการลงทะเล เพื่อทำการประมงและประกอบพิธีกรรมบาลัย(พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่า) แบบถาวร แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากฝ่ายเอกชนเป็นเพียงตัวแทนเข้าประชุม ซึ่งไม่มีอำนาจตัดสินใจ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงสั่งให้เอกชนหยุดการก่อสร้างทั้งหมดไว้ก่อน พร้อมทั้งเปิดเส้นทางให้ชาวบ้านสัญจรจนกว่าจะได้ข้อยุติ ที่จะมาหารือกันอีกครั้งในวันอังคารหน้า

ด้านชาวเลชาวอูรักลาโว้ย จากการบอกเล่าของไมตรี จงไกรจักรผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ก็ได้ขุดกระดูกบรรพบุรุษขึ้นมาทำพิธีขอให้ปกป้องคุ้มครองลูกหลาน และเป็นการฟ้องบรรพบุรุษที่ถูกนายทุนรังแกด้วย ก่อนรวมตัวกันเดินทางไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานธนาคารกรุงเทพ สาขาภูเก็ต เพราะหุ้นส่วนบริษัทบางคนมีคนนามสกุลใหญ่ของธนาคารแห่งนี้ด้วย

สำหรับความขัดแย้งในพื้นที่นี้มีมานานเกือบ 10 ปี หลังจากที่บริษัท บารอนเวิลด์ เทรดอ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินหน้าหาดราไวย์ ตั้งแต่ปี 2550 และมีความพยายามผลักดันชาวไทยใหม่ออกไปให้พ้นพื้นที่ ซึ่งมีการต่อสู้กันมาตลอด เพราะชาวไทยใหม่ยืนยันความเป็นชาวเล ที่อยู่อาศัยที่นี่มานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่ากว่าร้อยปี เส้นทางเข้าออกที่ถูกปิดครั้งนี้เป็นเส้นทางเดียวของชาวอูรักลาโว้ยที่จะไปออกทะเลหากิน และเส้นทางไปสุสานบรรพบุรุษและประกอบพิธีลอยเรือ อีกทั้งเป็นเส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาส เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2502 จึงทำให้ชาวไทยใหม่ยอมไม่ได้

ขณะที่บริษัทเอกชน อ้างว่าได้ผ่อนผันให้ชาวไทยใหม่ใช้พื้นที่มานานแล้ว ถึงเวลาต้องเข้าพัฒนาที่ดิน โดยพยายามเข้ามาใช้พื้นที่ และเกิดการปะทะกับชาวไทยใหม่ครั้งแรกเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา และครั้งที่ล่าสุดเมื่อเช้าวานนี้(27 ม.ค.)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินของชาวเล ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยทำกินอยู่บริเวณทะเลอันดามันนานกว่า 300 ปีก็นับว่าน่าสนใจ

ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 43 ชุมชน ใน 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา สตูล กระบี่ และระนอง ประมาณ 12,250 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ มอแกน มอแกลน และอุรักลาโว้ย ซึ่งทุกกลุ่มมีวิถีชิวิต วัฒนธรรมและภาษาเป็นของตนเอง

ส่วนการแก้ไขปัญหานั้น เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยให้กระทรวงวัฒนธรรมรับผิดชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพประมง การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การส่งเสริมด้านการศึกษา การแก้ไขปัญหาอคติทางชาติพันธุ์การส่งเสริมภาษาและวัฒนาธรรม ฯลฯ

ตลอด 5 ปี ที่มีมติคณะรัฐมนตรี พี่น้องชาวเลได้มีการรวมตัวในพื้นที่ของตนเองและเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายชาวเลทั้ง 5 จังหวัด เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันโดยการสนับสนุนขององค์กรพัฒนา นักวิชาการ สื่อมวลชน มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชาวเล โดยมีพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทองเป็นประธาน แต่การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่บรรลุผล

นอกจากนี้ จากการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ยังพบว่าชาวเลจำนวน 31 แห่ง อาศัยอยู่บนที่ดินก่อนประกาศของรัฐ เช่น กรมเจ้าท่า ป่าสงวนอุทยานแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งยังอาศัยอยู่บนที่ดินที่ถูกฟ้องขับไล่โดยเอกชน ถึง 7 แห่ง จำนวน 1,228 หลังคาเรือน

โดยเฉพาะที่ภูเก็ตสนิท แซ่ซั่วแกนนำชาวเลบ้านราไวย์ภูเก็ตเล่าว่า ชาวเล อาศัยอยู่บนที่ดินกว่า 30 ไร่ที่หาดราไวย์มานับร้อยปี อยู่ๆก็มีนายทุนมาฟ้องขับไล่ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา จำนวน 161 ครอบครัว เราก็ยืนยันว่าเราอยู่มาก่อน นายทุนมีเอกสารสิทธิได้อย่างไร แต่เราก็โชคดีที่มีพี่เลี้ยงที่เป็นนักพัฒนามาช่วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)มาขุดกระดูกบรรพบุรุษที่ฝังไว้นั้นไปพิสูจน์DNA ถึงต่างประเทศ ซึ่งผลพิสูจน์ออมาว่าเป็นกระดูกของชาวเล นั่นแสดงว่า เราอยู่ที่นี่มาก่อนจึงต้องให้มีการเผิกถอนโฉนดที่ออกให้นายทุน แต่อธิบดีกรมที่ดินก็ยังไม่ดำเนินการ

ส่วนการประกอบอาชีพทำประมง ซึ่งอยู่คู่กับชาวเลมาตั้งแต่เกิด พออุทยานประกาศทับที่ก็ทำให้ชาวเลไม่สามารถจับปลาได้อีกต่อไป ซึ่งขณะนี้คณะทำงานฯก็ได้มีการประชุมหารือถึงเรื่องนี้ เพื่อผ่อนผันให้ชาวเลได้ทำกิน เพราะปกติชาวเลจับปลาด้วยเครื่องมือแบบพื้นบ้านและจับพอกินอยู่แล้ว ไม่เคยคิดทำมาหากินแบบล้างผลาญ

ที่สำคัญนอกจากปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินแล้ว ชาวเลยังต้องประสบปัญหาพื้นที่ทางจิตวิญญาณ หรือพื้นที่สุสาน 23 พื้นที่ จำนวน 232.5 ไร่ ซึ่งชาวเลใช้ฝังศพ โดยการอ้างสิทธิของนายทุน อีกทั้งรัฐก็ไม่มีการออกเอกสารทางทะเบียนให้กับพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเล

มาถึงประเด็นเรียกร้องหลังจากเกิดเหตุรุนแรงครั้งนี้ไมตรี จงไกรจักรผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง เผยว่า ชาวเลเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้มีการเร่งรัดตรวจสอบเอกสารสิทธิให้แล้วเสร็จโดยด่วน เพราะผลตรวจสอบกระดูกบรรพบุรุษโดยดีเอสไอก็ออกมาแล้ว 2.อธิบดีกรมที่ดินต้องสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิของนายทุนที่อ้างสิทธิทับที่ทำกินและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเล และ 3.จับกุมดำเนินคดีกับชายฉกรรจ์ที่เข้ามาทำร้ายชาวเลตามกฎหมาย

คงต้องจับตามองกันต่อไปในวันอังคารหน้า ตามที่ผู้ว่าฯนัดหมาย ว่าผลจะออกมาอย่างไร สอดคล้องกับที่ชาวเลไทยใหม่เรียกร้องต้องการหรือไม่