'กรกฤช จุฬางกูร' อย่าไว้ใจใบหน้าใสๆ

'กรกฤช จุฬางกูร' อย่าไว้ใจใบหน้าใสๆ

อย่าให้ใบหน้าใสๆ มาหลอกตาคุณ แม้แต่ตัวเลขอายุก็เชื่อไม่ได้ เพราะหนุ่มน้อยหน้าใสคนนี้คือ ผู้บริหารที่กุมอาณาจักรมูลค่าแสนล้านในชื่อ SAB

“กรกฤช จุฬางกูร” ลูกชายคนที่ 4 ในจำนวนชายหนุ่มล้วน 6 คนของ สรรเสริญ-หทัยรัตน์ จุฬางกูร เจ้าของกลุ่มบริษัทซัมมิทกรุ๊ป ผ่านบทพิสูจน์ฝีมือการทำงานจนได้รับความไว้วางใจให้ดูแลกิจการระดับแสนล้านของครอบครัว ด้วยวัยอายุที่อีกหลายปีจะขยับขึ้นเลขหลักสี่

แต่เกือบจะไม่มีวันนี้ เมื่อย้อนไปในวันที่ใช้ชีวิตเป็น “เด็กนอก” อิสรภาพและเสรีภาพที่ได้สัมผัสทำให้เขาสนุกสุดเหวี่ยงกับชีวิต กระทั่งวันหนึ่งที่ได้หยุดและฉุกคิดว่า ตนเองเดินช้ากว่าเพื่อน จึงฮึดกลับมาตั้งใจเรียนกระทั่งคว้าปริญญาโทเกียรตินิยมด้านการบริหารจัดการธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา

๐ การดูแลธุรกิจครอบครัว?
ธุรกิจที่บ้านคือซัมมิทกรุ๊ป เกี่ยวกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ผมเข้าทำงานครั้งแรกปี 2548 เริ่มที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริหารทั่วไป การโยธาซ่อมสร้าง เป็นเวลา 8 เดือน ก่อนปรับขึ้นมาเป็น Corporate planning Director และกรรมการผู้จัดการบริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรีฯ กระทั่งปัจจุบันคือ ตำแหน่งประธานบริหาร

พี่น้องทั้ง 6 คนก็มีเพียง 2 คนที่ทำงานด้านนี้ ส่วนที่เหลือก็ไปทำธุรกิจโรงแรม โรงเรียน การเงิน สนามกอล์ฟ ส่วนผมก็ตั้งใจเข้ามาดูธุรกิจของที่บ้านอยู่แล้วครับ ก่อนหน้านั้นก็ไปฝึกงานในบริษัทยานยนต์ 1 ปี เพื่อเรียนรู้ระบบการทำงานที่เป็นสากล พร้อมกับพยายามลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ในทุกแผนก หมุนเวียนไปส่วนงานต่างๆ ทั้งจัดซื้อ บัญชี ช่าง รวมถึงไลน์โปรดักชั่น


แน่นอนว่าบริษัทคนไทยเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ระบบบริหารงานมีช่องว่างหลายๆ อย่างที่เปรียบเทียบไม่ได้กับบริษัทสากล แม้ว่าเราจะมีรายได้เป็นหมื่นล้านแล้วแต่ลักษณะการบริหาร ระบบงบประมาณ ก็ยังไม่มี ผมก็นำประสบการณ์ความรู้มาปรับเปลี่ยนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาไม่มีวาระในการโปรโมทคนขึ้นมาตามวาระ ก็ได้ปรับให้มีวาระการโปรโมทโดยมีการสะสมเกรด ที่สำคัญ ผมปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการทั้งส่วนของบริหาร ส่วนของช่างเทคนิค ด้วยแนวคิด Put the right man on the right job เพราะถ้ามีการโปรโมทคนที่เป็นช่างเทคนิคขึ้นมาเป็นผู้บริหาร เราเสียช่างเทคนิคดีๆ คนหนึ่งและได้ผู้บริหารแย่ๆ มาคนหนึ่ง แบบที่ได้ยินกันบ่อยๆ เพราะฉะนั้น เราต้องวางระบบให้เป็นรูปเป็นร่าง

๐ คุณพ่อไฟเขียวแค่ไหน?
ตอนนั้น ผมกำลังไฟแรง ไม่ได้หาที่ปรึกษาหรือใครมาช่วย แต่โชคดีที่คุณพ่อให้เกียรติ ให้อิสระในการบริหาร เรื่องหลายเรื่องแม้ท่านไม่เห็นด้วยแต่ก็ให้สิทธิ์ลูกตัดสินใจ จุดนี้ก็อยากจะฝากพ่อแม่ที่กำลังส่งกิจการต่อให้รุ่นลูกว่า การปล่อยให้ลองผิดลองถูก การให้อิสระในการทำงาน ถือเป็นความสำคัญในการบริหารธุรกิจของครอบครัว

เพราะช่วงแรกเราก็ใหม่มากในธุรกิจนี้ เรื่องวิศวกรรมก็ไม่รู้ เรื่องเทคนิคมากๆ ก็ไม่รู้ ต้องยอมรับว่าบางทีเราก็ต้องเป็นผู้ตาม ต้องเข้าไปเรียนรู้ แต่เมื่อทำงานมากขึ้น รับฟังข้อมูลมากขึ้น ความรู้เหล่านี้จะซึมซับไปเรื่อยๆ บวกกับประสบการณ์ ทำให้เราโตขึ้น รู้ระบบการทำงานมากยิ่งขึ้น

๐ สไตล์การบริหารงานของคุณเป็นอย่างไร?
ต้นแบบการทำงานของผมได้มาจากคุณพ่อซึ่งเริ่มจากศูนย์ แต่สามารถประสบความสำเร็จ ด้วยบุคลิก ความเป็นกันเองและการรับฟังความคิดของผู้อื่น จากพื้นฐานนี้ทำให้เมื่อผมไปที่ไหนๆ ก็ได้รับการยอมรับและความเชื่อถือ


การเรียนรู้จากข้างนอกก็เป็นเรื่องสำคัญทำให้ได้ไปเห็นสิ่งที่ดีๆ ยกตัวอย่าง 1 ปีที่ฝึกงาน ผมไม่ได้เรียนรู้ทุกอย่าง แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นว่า การทำงานต้องมีขั้นตอน เป็นกระบวนการคิดของการวางแผน การประสานงานกับคน การสื่อสารให้ไม่มีความขัดแย้งหรือให้น้อยที่สุด เพราะการเป็นผู้บริหารนั้น จะไปซ้ายหรือขวาก็ต้องมีคนไม่ชอบ เพราะฉะนั้น การสื่อสารที่ทำให้ไม่มีความขัดแย้งจึงสำคัญสุด

อีกอย่างที่ผมถือเป็นสิ่งสำคัญมากคือ การไม่ปฏิเสธโอกาสที่วิ่งเข้ามาหา มันอาจจะไม่ได้มีมาหลายครั้ง ผมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของโอกาส จะพิจารณาโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเสมอ

๐ โอกาสอะไรบ้างที่มาหาคุณ?
มีหลายเรื่องนะอย่างร้านครัวซองท์ไทยากิ ซึ่งเป็นโอกาสการทำธุรกิจของตัวเองเต็มตัว เพราะมาจากการที่ผมทำธุรกิจยานยนต์ ผมได้เรื่องการยอมรับ ได้ขึ้นเป็นเลขาธิการของสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และได้เป็นอะไรหลายๆ อย่าง แต่หากเริ่มธุรกิจของตัวเองจากศูนย์ มันจะเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจ

ท่านก็อยากให้ลูกๆ ทุกคนเริ่มนับหนึ่งในธุรกิจของตัวเอง ผมเคยมองธุรกิจโรงงานแต่ก็ลงทุนสูงมาก เลยมองธุรกิจที่เป็นเรื่องใกล้ตัวก็คืออาหาร ตอนแรกที่ติดต่อ “ครัวซองท์ไทยากิ” จากญี่ปุ่น ตอนนั้นเขาเพิ่งเปิดได้ 8 เดือนแล้วบินมาเมืองไทยเพื่อติดต่อเจรจากับเจ้าอื่นรวม 3 ราย

ผมมองว่า ตัวสินค้าน่าสนใจ กลิ่นของมันเชิญชวน ด้วยราคาที่เหมาะสม เป็นขนมที่มีเอกลักษณ์ ผมก็ใช้การตลาดผ่านเครือข่ายดาราช่วยโพสต์ให้กับแบรนด์ ตอนนี้เตรียมขยายจาก 15 สาขาที่เป็นของเราเอง เพิ่มอีก 3 สาขา และจะมีที่เป็นซับแฟรนไชส์อีก 3 สาขา รวมเป็นทั้งหมด 21 สาขาปี 2559 ถือเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ของครัวซองท์ไทยากิ

ผู้บริหารจากฮอตแลนด์ให้สิทธิขยายไปเออีซีในอีก 9 ประเทศ ตอนนี้กำลังคุยกันเพื่อทำกิจการร่วมค้า น่าจะรู้ผลเร็วๆ นี้ จากนั้นจะขยายไปประเทศอื่นๆ โดยที่ไทยจะเป็นบริษัทแม่

๐ สองกิจการต่างกันสุดขั้ว?
ผมถือว่าตัวเองเป็นหัวเรือใหญ่ที่ดูแลธุรกิจที่บ้านก็เน้นซัมมิทเป็นหลัก ส่วนร้านครัวซองท์ไทยากิก็หาคนมาดูแลแทน ผมจะดูแลภาพใหญ่อย่างเรื่องการขยายสาขา การตลาดต่างประเทศรวมถึงการบริหารค่าแฟรนไชส์ โดยใช้เวลาหลังเลิกงานและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

เราต้องแบ่งเวลาให้ถูก ไม่เอาเวลาของงานตัวนี้ไปกินเวลางานหลักของซัมมิทกรุ๊ป ผมยังเอาสิ่งที่ได้จากธุรกิจหลักมาใช้ในธุรกิจส่วนตัว อย่างเรื่องการบริหาร การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การจัดการต่างๆ มันเป็นเรื่องพื้นฐานการบริหาร
แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันเลยคือ ซัมมิท ผมมีลูกค้า 10 คน แต่ครัวซองท์ ผมมีลูกค้าเป็นบุคคลทั่วไป และมีการตลาดที่แตกต่างกันไป อันนี้มันต้องมีการสื่อให้เกิดความประทับใจ ต้องมีการสร้างแบรนด์ การเปิดตัว นี่คือสิ่งที่แตกต่าง

อีกอย่างที่ต้องบริหารคือเรื่องไส้ขนมให้คนไทยมีตัวเลือกได้มากกว่า ต้นตำรับในญี่ปุ่นมีแค่ 2 ไส้ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคไทยชอบเลือก ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับคนไทย

ความท้าทายของทักษะในการบริหารงานที่แตกต่าง ผมมองว่า หาได้จากการอ่านข่าว การศึกษา การดูทีวี ดูโฆษณา เรื่องมาร์เก็ตติ้ง เราก็เรียนรู้ได้ทั่วไป แต่เมื่อมาปฏิบัติจริง ก็ค่อยๆ พัฒนาไป ผมไม่ได้รู้มาตั้งแต่แรก ก็ค่อยๆ ต่อยอดเอา ดูจากเพื่อนที่ทำร้านอาหาร แต่หลักคือ เราเรียนรู้จากพื้นฐานของเราแล้วอาศัยการปฏิบัติจริง เพราะทุกการทำงานจะมีรายละเอียดลึกๆ ที่ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเอง

อย่างเรื่องเฟซบุ๊คที่ผมต้องเรียนรู้เพื่อทำตลาดให้กับครัวซองท์ไทยากิ ในช่วงแรกทั้งเฟซบุ๊คและอินสตาแกรม ผมดูแลเอง 6 เดือน ช่วงเสาร์-อาทิตย์ก็มาทำหน้าที่แคชเชียร์ ลงมาอยู่หน้าร้านเพื่อพบเจอลูกค้า

ผมไม่ได้เรียนรู้เร็วและไม่ได้ช้า ผมจะกลางๆ ในทุกๆ เรื่อง แต่ผมคิดว่า ถ้าคนเราจะประสบความสำเร็จคือ คุณต้องจริงจังกับงาน และต้องคิดไปข้างหน้าให้ได้ ต้องเรียนรู้ผู้บริโภค การตั้งราคาเป็นสิ่งสำคัญ การวางเป้าหมายก็สำคัญ การเลือกทำเล ต้องมองสินค้าให้ออก ก็เป็นปัจจัยลึก เป็นรายละเอียดที่เราต้องค่อยๆ เรียนรู้ผิดถูกไป

เรารู้ภาพรวมของธุรกิจที่จะทำ รู้ภาพใหญ่ แต่ให้ไปทำแข่งกับลูกน้องก็ทำไม่ได้ แม้แต่ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ตาม บางอย่างเราทำไม่ได้ แต่ต้องรู้ว่าทำอย่างไร เวลามีปัญหาก็จะมองออกว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไร จะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด

๐ คุณพอใจกับชีวิตแค่ไหน?
ตอนนี้ผมมีความสุข ผมสนุกกับงาน แม้จะยุ่งและเหนื่อย ผมทำงาน 7 วัน 3 เดือนก็มี ผมไม่เครียดตลอดนะ (หัวเราะ) ผมเครียดระหว่างงาน ระหว่างวัน แต่เมื่อออกจากเวลางานปุ๊บ ผมตัดงานออกไปได้เลย นิสัยนี้เป็นมาโดยไม่ต้องฝึก ผมเป็นคนอารมณ์ดี ไม่คิดมาก แต่ทำงานจริงจัง ผมเป็นคนที่เวลาพูดเรื่องงานก็น่าเชื่อถือ แต่เล่นก็เล่นได้

การพักผ่อนของผมคือ ดูหนังฟังเพลง อ่านหนังสือ ท่องอินเทอร์เน็ต ผมไม่ค่อยออกไปเที่ยวนะ แม้ว่ามันจะเป็นการพักผ่อน แต่มันเหนื่อย ผมก็เลือกขออยู่บ้าน นอน อ่านหนังสือ ผมสามารถมีความสุขได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องออกไปนอกบ้าน

๐ ดูแลสุขภาพอย่างไรบ้าง?
เมื่อก่อนจะไปตีกอล์ฟออกกำลัง ตอนนี้ไม่มีเวลา ไม่ได้ไปนานแล้ว ผมไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือน้ำหนักเกินก็เลยไม่ค่อยสนใจออกกำลังกาย แต่ทุกคนจะคอยเตือน คอยบอก จนตอนนี้เริ่มวิ่งบนลู่วิ่ง สัปดาห์ละ 2 ครั้งๆ ละ 1 ชั่วโมง ก็รู้สึกดีนะเหมือนแข็งแรงขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย ก็เลยเลิกตามใจตัวเอง จากที่กินๆ นอนๆ ก็หาเวลาว่างไปวิ่ง

ตอนเด็กๆ ผมเป็นนักวิ่งนะ พอโตขึ้นเคยไปทดสอบร่างกาย พบว่าไม่สามารถวิ่งได้ต่อเนื่องเกิน 10 นาที ก็ค่อยๆ เริ่มวิ่งใหม่ ร่างกายดีขึ้น ตอนนี้สามารถวิ่งต่อเนื่องได้ 50 นาที

ผู้บริหารหนุ่มวัย 37 ปี กับหน้าที่รับผิดชอบทั้ง 2 ธุรกิจเต็ม 2 บ่า เมื่อถูกถามถึงวัยเกษียณ เขากลับบอกว่า ไม่มีความคิดนี้ กำลังยังมี ศักยภาพสมองเต็มเปี่ยม ต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ แม้อายุมากขึ้น บทบาทหน้าที่จะลดลงก็ยังจะทำอยู่ต่อไป