กรธ.กำหนดเปิดสภาฯนัดแรก หลังกกต.รับรองผลครบ 95%แล้ว5วัน

กรธ.กำหนดเปิดสภาฯนัดแรก หลังกกต.รับรองผลครบ 95%แล้ว5วัน

กรธ.ปรับบทกำหนดเปิดสภาฯนัดแรก หลังกกต.รับรองผลครบ95%แล้ว5วัน พร้อมเพิ่มวันรับรองผลเลือกตั้งเป็น 45 วัน แต่ยังถกปมอำนาจกกต. สั่งล้มเลือกตั้ง

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงผลการประชุมกรธ. ต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในหมวดรัฐสภา ว่าด้วยบทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง ว่ามีประเด็นที่เป็นหลักการใหม่ที่สำคัญ ได้แก่ บทบัญญัติว่าด้วยการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกและกำหนดสมัยประชุม ที่ประชุมได้กำหนดให้มีการเปิดประชุมสภาฯ นัดแรก ภายใน 5 วันหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วเสร็จ โดยเบื้องต้นร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้กกต.ประกาศรับรอผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน

แต่หากครบระยะเวลาดังกล่าวแล้วผลพบว่ายังไม่ได้ส.ส.ครบเกณฑ์ 95 % ของจำนวนส.ส. 500 คน หรือ 475 คน ได้ให้สิทธิ กกต. ประกาศขยายวันประกาศรับรองผลเลือกตั้งออกไปอีก แต่ต้องไม่เกิน 15 วัน อย่างไรก็ตามในประเด็นการให้อำนาจ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งนั้น กรธ.ได้ยกประเด็นของการให้สิทธิ กกต.ล้มการเลือกตั้งได้ หากเกิดกรณีที่ว่าเขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ เช่น 200 เขต จากเขตเลือกตั้งทั้งหมด 350 เขตไม่สามารถจัดการเลือกตั้งหรือประกาศผลเลือกตั้งได้ แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่ตกผลึกในรายละเอียด 

นายอุดม กล่าวด้วยว่า ส่วนการกำหนดสมัยประชุมสภาฯ ในเนื้อหากำหนดให้ใน 1 ปี มีการประชุม 2 สมัย โดยจะไม่แบ่งเป็นสมัยนิติบัญญัติ หรือสมัยทั่วไป เพื่อให้สภาฯ สามารถพิจารณาร่างกฎหมายได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ หรือรัฐมนตรี กำหนดให้ทำได้ ปีละ 1 ครั้ง ดังนั้นเมื่อกำหนดประเด็นดังกล่าวไว้ก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งสมัยประชุมเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา

ขณะที่ประเด็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวส.ส., ส.ว. ในระหว่างสมัยประชุมนั้น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ได้กำหนดข้อยกเว้นเพิ่มเติมจากบทบัญญัติที่ผ่านมา คือ กรณีถูกสอบสวนในคดีที่เกี่ยวกับการทุจริต อาทิ การทุจริตการเลือกตั้งและคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยไม่ต้องขออนุญาตจากสภาฯ เพราะทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวมีผลผูกพันต่อคุณสมบัติของการเป็นส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากเดิมที่มีข้อยกเว้นเฉพาะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือกรณีถูกจับในขณะกระทำความผิด