ร่างรธน.ใหม่ ล็อค'ยิ่งลักษณ์' ห้ามลงเลือกตั้ง เหตุถูกถอดถอน

ร่างรธน.ใหม่ ล็อค'ยิ่งลักษณ์' ห้ามลงเลือกตั้ง เหตุถูกถอดถอน

"มีชัย" ย้ำร่างรธน.ใหม่ ล็อค "ยิ่งลักษณ์" ห้ามลงเลือกตั้งอีกตลอดไป เหตุถูกถอดถอนโดยสนช. คืนสิทธิ์นักการเมืองบ้านเลขที่111-109

เมื่อเวลา 13.30 น. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกรธ. ต่อคำถามกรณีข้อห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง อาทิ กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีนนายกฯ ที่ถูกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ลงมติถอดถอน ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าบุคคลที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งไม่ว่าบนความผิดฐานใด จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกต่อไป โดยจะเป็นสิ่งที่กำหนดเป็นเงื่อนไขที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความตีความใดๆ อีก 

นายมีชัย กล่าวด้วยว่าส่วนกรณีของนักการเมืองที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ตัดสิทธิทางการเมือง เป็นเวลา 5 ปี หรือนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 จะไม่ถือว่าบุคคลที่ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะได้พ้นโทษไปแล้ว แม้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2558 มาตรา 35 กำหนดกรอบการเขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีกลไกเพื่อป้องกันและตรวจสอบไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำทุจริตประพฤติมิชอบ หรือเคยทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมเข้าดำรงตำแหน่งไว้ แต่นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 ไม่ได้กระทำผิด แต่เหตุที่เขาถูกตัดสิทธิเพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดไว้ว่าเมื่อพรรคถูกยุบ ต้องตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วย ดังนั้นพวกเขาไม่ได้ทำผิด แต่โดนตัดสิทธิเพราะผลทางกฎหมาย ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเห็นใจ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีบทบัญญัติที่เหมือนที่เคยเขียนแล้ว ถือว่านักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109ลงสมัครรับเลือกตั้งได้

นายมีชัย กล่าวถึงประเด็นการพิจารณาเกี่ยวกับการคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ซึ่งกรธ. พิจารณาไว้ 2 ระดับ คือ 1.ระหว่างการเลือกตั้ง จะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะพิจารณาให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) ซึ่งมีกลไกพิจารณากรณีที่พบผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หรือตามรายละเอียดของกฎหมายที่ให้อำนาจกับ กกต. ไว้ ซึ่งผลการตัดสิทธิคือบุคคลผู้นั้นจะไม่มีสิทธิลงเลือกตั้ง รวมถึงไปใช้สิทธิลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งใดๆ ได้ภายในระยะเวลาที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง และ2.การกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้งอย่างรุนแรง พบการทุจริตที่สร้างความเสียหาย กกต. จะไม่มีอำนาจในการพิจารณา แต่จะมีสิทธิฟ้องต่อศาล เมื่อศาลพิจารณาแล้วพบการกระทำผิดจริง ศาลสามารถสั่งตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ได้ โดยผู้ที่ถูกศาลสั่งจะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต แต่จะยังมีสิทธิ์ไปลงคะแนนเลือกตั้งได้

นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่กรธ.ยังอยู่ระหว่างพิจารณา คือ กรณีที่ผู้ที่เคยถูกศาลสั่งให้จำคุก ในกรณีการชุมนุมทางการเมือง ว่าจะถูกห้ามลงเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ส่วนบุคคลที่เคยถูกลงโทษด้วยการจำคุกทุกกรณี ตามเงื่อนไขจะถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่กรธ.ยังต้องพิจารณาต่อไปว่าเมื่อพ้นโทษมาแล้วในระยะเวลาหนึ่งจะคืนสิทธิ์ลงเลือกตั้งให้อีกหรือไม่