ผบช.น.เรียกสถาบันศึกษา ป้องกันนักเรียนตีกัน

ผบช.น.เรียกสถาบันศึกษา ป้องกันนักเรียนตีกัน

ผบช.น.เรียกสถาบันศึกษา ตัวแทนผู้ปกครองประชุมหารือป้องกันนักเรียนตีกัน ผุดแนวคิด"โครงการเรียนคนละที่แต่สีเดียวกัน"

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.สมชาย นิตยบวรกุล รองผบช.น. ดูแลงานป้องกันปราบปราม พล.ต.ต.ชัยพร พานิชอัตรา ผบก.น.3 พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ผบก.น.4 พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบก.น.5 ตัวแทนจาก บก.น.2 บก.น.3 บก.น.4 บก.น.5 บก.น.6 พื้นที่เกิดเหตุนักเรียนตีกัน คณาอาจารย์ ตัวแทนผู้ปกครอง นักศึกษา โรงเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท รวมประมาณ 200 คน ร่วมประชุมหารือแนวทางป้องกันปราบปรามนักเรียนนักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาทโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

พล.ต.ท.ศานิตย์ เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ประเด็นสำคัญคือการเชิญผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ตัวแทนผู้ปกครอง อาจารย์ นักเรียน และเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลในจุดที่มีปัญหานักเรียนตีกัน เพื่อหารือทั้งการป้องกันและการปราบปราม แสดงความคิดเห็นหาสาเหตุของการทะเลาะวิวาท หาข้อสรุปการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ยกตัวอย่างกรณีที่มีการพกพาอาวุธก็จะถูกดำเนินคดีข้อหาพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 10 ปี และหากก่อเหตุทะเลาะวิวาททำให้ผู้เสียชีวิตก็จะถูกดำเนินคดีจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต โดยอาจจะทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้รับบาดเจ็บ จึงต้องรีบดำเนินการอย่างเด็ดขาด

“อยากจะให้แกนนำที่พาน้องๆ หรือเพื่อนไปทะเลาะวิวาท  เข้าใจว่าการปิดโรงเรียนนำตำรวจไปปิดล้อมตรวจค้นก็เป็นแนวทางการแก้ไขส่วนหนึ่ง ซึ่งทางบช.น. จะนำเอาโครงการเรียนคนละทีแต่สีเดียวกัน โดยนำตัวแกนนำแต่ละสถาบันที่ทำการทะเลาะวิวาทมาอยู่ร่วมกันหันหน้าเข้าหากัน อยู่ด้วยกัน 3 วัน 2 คืน ซึ่งการทำแบบนี้เชื่อว่า ถ้าได้คุยกันจะช่วยให้ทำความเข้าใจกันได้มากขึ้น ลดพฤติกรรมการก่อเหตุดังกล่าวที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันโดยไม่รู้ด้วยซ้ำเพราะสาเหตุใด” รรท.ผบช.น. กล่าว

ด้านพล.ต.ต.สมชาย กล่าวว่า เบื้องต้นได้เชิญผู้เกี่ยวข้องอาจารย์สถานบันการศึกษา นักศึกษา คณาจารย์ ในจุดพื้นที่เสี่ยงที่เกิดเหตุปล่อย วัตถุประสงค์มาพูดคุยหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยที่ใช้วิธีสันติวิธีก่อนไปสู่การบังคับใช้กฎหมายในขั้นตอนเด็ดขาด เนื่องจากยังให้ความสำคัญว่าผู้ก่อเหตุเป็นเด็กหรือเยาวชนสามารถเดินกลับมาในเส้นทางที่ดีได้ ส่วนจุดพื้นที่เสียง จะหารือแนวทางการกันว่าจะใช้โดยสันติวิธีอย่างไร รวมถึงแกนนำที่นำตัวมาก่อเหตุต่างๆ อยากทราบชื่อและประวัติเพื่อเข้าไปพูดคุยปรับแนวทางความคิดใหม่ คนเราเมื่อได้พบปะพูดคุยกันก็สามารถเปลี่ยนแนวความคิดกันได้ ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงเปิดเทอม เฉพาะเดือนนี้มีการก่อเหตุถึง 5 ครั้ง รัฐบาลมีความห่วงใย จึงได้มีการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว

ด้านผู้อำนวยการของวิทยาลัยเทคโนโลยีมีนบุรีโปลีเทคนิค กล่าวว่า เรียนจบจากช่างกลปทุมวัน และทำหน้าที่ผู้อำนวยการมาเป็นระยะเวลา 47 ปี ซึ่งละอายแก่ใจมากที่นักเรียนนักศึกษาต่างสถาบันมาตีกัน ฆ่ากันตาย แล้วก็ยังจับตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ เชื่อว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มีงบประมาณไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ ต่อไปตนก็จะนำเอาโครงการที่พัฒนาการเรียนรู้ เสริมทักษะที่ใช้ในสถาบันต่างๆ มาปลูกฝังให้กับสถาบันของตนต่อไป

ด้านผู้ปกครองนักเรียนและนักศึกษา กล่าวว่า เชื่อว่าผู้ปกครองทุกคนต้องการสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี ไม่ใช่ปลูกฝังมาให้เป็นคนไม่ดี หรือบุตรหลานของผู้ปกครองบางท่าน อาจจะเข้าไปในกลุ่มที่มีรุ่นพี่ไม่ดี ซึ่งถูกยุยง และปลูกฝังในทางที่ผิด อยากจะขอให้มีมตราการดีๆที่จะช่วยเหลือเด็กๆได้ เพราะเด็กบางคนบ้านไกลจากสถานศึกษา ซึ่งระหว่างเดินทางมาเรียน อาจจะเจอกลุ่มนักเรียนต่างสถาบัน แล้วก็เกิดเหตุทะเลาะวิวาทกัน แต่สาเหตุที่เกิดส่วนมากไม่ได้เกิดจากตัวบุคคล แต่เกิดขึ้นจากสถาบัน

ขณะที่ตัวแทนนักเรียนและนักศึกษาที่มีความเห็นเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาทของแต่ละสถาบัน กล่าวว่า ที่นักเรียนตีกันส่วนใหญ่ สาเหตุหลักๆอาจจะมาจากรุ่นพี่ที่ปลูกฝังให้กับรุ่นสู่รุ่นมาเรื่อยๆ ซึ่งรุ่นพี่มี 2 แบบ อาทิ แบบแรกรุ่นพี่ที่ดี จะช่วยดึงน้องไปในทางที่ดี ช่วยเหลือน้องในทุกเรื่อง และ แบบที่2 รุ่นพี่ที่ไม่ดี จะยื่นแต่อาวุธให้น้องออกไปตีรันฟันแทงกับสถาบันคู่อริ เข้าใจว่าอาจจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ไม่ขาด แต่สามารถแก้ไขให้เบาบางลงได้

“อยากจะขอเสนอให้ 1.เวลาเลิกเรียนนักเรียนทุกคนจะต้องสวมใส่เสื้อคลุม เพื่อเป็นการป้องกัน และระวังตัวในกรณีที่เจอกับสถาบันอื่น 2.ติดตั้งกล้องวงจรปิดรอบสถาบัน 3.ดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุให้ถึงที่สุด 4.ปรับเปลี่ยนเวลาเลิกเรียนของแต่ละสถาบัน เพราะสมัยนี้ไม่ใช่แค่เป็นคู่อริแล้วจะตีกันเท่านั้น แต่กลับเป็นว่าไม่ว่าจะเป็นใคร และอยู่คนละสถาบันก็มีสิทธิ์โดนทำร้ายได้ทุกคน” ตัวแทนนักเรียนระบุ