โรมันน้อย ‘เวโรนา’

โรมันน้อย ‘เวโรนา’

ระหว่างตุรัดตุเหร่เดินท่องพิพิธภัณฑ์อยู่ในมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี อย่างเหงาๆ และเดียวดาย จู่ๆ ...

เสียงกริ๊งจากแอพพลิชั่นแชทดังขึ้นผ่านสมาร์ทโฟน ตามมาด้วยข้อความที่ทำให้หัวใจพองโต


“ไปเที่ยวเวโรนากันมั้ย :) ”


นับเป็นโชคดี เพราะเพื่อนที่ติดงานอยู่ในมิลาน เกิดว่างขึ้นมาในจังหวะนั้น เราก็เหมือนคนใจง่าย ตัดสินใจตกปากรับคำไปในทันที อีก 15 นาทีต่อมา เลยพบว่าตนเองกำลังยืนรอพลพรรคมาสมทบ อยู่กลางเซ็นทรัลสเตชั่น ชุมทางสถานีรถไฟของมิลานอันแสนวุ่นวาย ที่เดินทางไปได้ครอบคลุมเครือข่ายในยุโรป


การเดินทางจากมิลานไปเวโรนานั้นแสนสะดวกสบาย เพียงซื้อตั๋วโดยสารรถไฟจากตู้ ‘แมทชีนเวนเดอร์’ เปลี่ยนภาษาอิตาเลียนเป็นอังกฤษ ใส่ปลายทางที่เมืองเวโรนา ระบุเที่ยวรถไฟและเวลาเดินทางที่ต้องการ ใส่จำนวนตั๋วลงไป จากนั้นก็ติ๊กไปที่ประเภทรถไฟ คือชั้นสอง (น่าจะดีกว่าชั้นสาม และไม่แพงเท่าชั้นหนึ่ง) แล้วก็เอาบัตรเครดิตรูด เครื่องจะขอให้ใส่รหัสบัตร 4 ตัว (เพิ่งเห็นความสำคัญของรหัสกดเงินสดก็คราวนี้) เพียงแป๊บเดียว จักรกลสมัยใหม่ก็ปรินท์ตั๋วออกมาเรียบร้อย สนนราคาใบละ 12 ยูโร (ขาเดียว) จากนั้นก็ถึงเวลาเดินหาชานชาลาของเที่ยวรถไฟที่ใช่-เท่านั้นเอง


โดยเปรียบเทียบกับรถไฟในยุโรปประเทศอื่นๆ รถไฟของอิตาลีอาจจะดูเก่ากว่าเล็กน้อย ในด้านความสะอาดนั้น อาจจะเทียบเนเธอร์แลนด์หรือเยอรมนีไม่ได้ แถมปลั๊กที่ชาร์ทไฟบนรถไฟชั้นสองก็ไม่ทำงาน แต่โดยรวมยังถือว่า ตรงเวลาและประหยัดเงินไม่น้อย


จากมิลาน เส้นทางไปเมืองเวโรนา มุ่งสู่ทิศตะวันออก โดยอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างทางจากเมืองมิลานกับเมืองเวนิซพอดี ใช้เวลาราวๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งระหว่างนั้น ไม่มีใครคิดจะหลับ เพราะต้องคอยเงี่ยหูฟังว่า รถไฟเดินทางถึงสถานี Verona Porta Nuova หรือยัง นั่นคือปลายทางของพวกเรา



-1-


เมื่อมาถึงสถานี Verona Porta Nuova ตำแหน่งของสถานีอยู่ทางใต้ของเมือง เราจึงต้องจับแท็กซี่เข้าเมืองอีกทอดหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาราวๆ สิบนาทีเท่านั้น


เส้นทางรถยนต์เข้าสู่เมืองเวโรนา บ่งบอกจากทิวทัศน์สองข้างทางว่า ที่นี่เป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ ด้วยประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมโทรไม่ถึงล้านคน แต่ถึงกระนั้น เวโรนา ก็ยังเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของแคว้นเวเนโต รองจากเมืองเวนิซเท่านั้นเอง


ออกจากมิลานตอนเที่ยงกว่าๆ มาถึงเวโรนาตอนบ่ายสองกว่า ถึงเวลานี้กองทัพต้องเดินด้วยท้อง เป้าหมายของเราจึงอยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งขึ้นชื่อว่ามาถึงเมืองเวโรนาทั้งที ต้องมาชิมอาหารที่นี่ ไล่ล่าพิกัดจากแผนที่อยู่กว่าสิบนาที จนมาถึงหน้าร้าน ปรากฏว่า อับโชค ! เจ้าของร้านกำลังปิดประตู เพื่อออกไปพักผ่อนหรือทอดหุ่ยพอดี เพราะถึงเวลาปิดร้านหลังมื้อเที่ยงเสียแล้ว กว่าจะเปิดอีกครั้งก็เย็นย่ำค่ำ เราเลยต้องหาร้านอาหารแห่งอื่นทดแทน


ตามแบบแผนของเมืองในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ย่อมมีบริการที่พร้อมเสิร์ฟสำหรับนักท่องเที่ยวเสมอ เช่นเดียวกันกับเมืองเวโรนา ยังมีร้านอาหารหลายแห่งที่เปิดครัวตลอดเวลาให้เราไปลิ้มรสอาหารแบบกำซาบฟัน เพราะใครๆ ก็ยินดีที่จะมีรายได้ทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ดี ในแบบแผนการดื่มกินตามประเพณียุโรปแบบดั้งเดิม ร้านอาหารหรือภัตตาคารดีๆ มักมีเวลาการให้บริการที่ค่อนข้างชัดเจน นั่นย่อมหมายความว่า หากล่วงเวลาเวลาที่เหมาะสมไปแล้ว เราก็ย่อมพลาดร้านอาหารดีๆ ตามไปด้วย


ในที่สุด เราก็ลงเอยที่ร้านอาหารกึ่งๆ ฟิวชั่นแห่งหนึ่ง รสชาติอิตาเลียนฟู้ดขนานแท้ ต้องใช้ประสบการณ์ในการลิ้มรสและแยกแยะ หลายคนคงอยากสารภาพว่า มันเป็นเรื่องยากจะบอกได้ว่า พาสต้าร้านไหนดีกว่าร้านไหน เพราะรสชาติดูเหมือนๆ กันไปหมด ซึ่งนั่นก็คงไม่ต่างจากฝรั่งมากินข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวบ้านเราเท่าใดนัก ต้องใช้การสั่งสมประสบการณ์ไปอีกระดับหนึ่ง


อย่างไรก็ดี การเดินทางด้วยคณะเล็กๆ ของเราครั้งนี้ ก็ทำให้ความรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะต้องมีพริกน้ำปลา น้ำจิ้มแจ่ว น้ำจิ้มสุกี้ หรือน้ำพริกทั้งหลายในทุกๆ มื้ออาหารในต่างแดน พลอยมลายหายไปด้วย เพราะไม่มีหัวหน้าคณะทัวร์มาคอยให้บริการสิ่งเหล่านี้แก่ลูกทัวร์ชาวไทย ซึ่งผมมักรู้สึกเก้อเขินทุกครั้งที่เห็นเชฟใหญ่ของร้านมาดูกิจกรรมแบ่งน้ำจิ้มใส่ถ้วยนี้


บางทีเราอาจจะเป็นคนสัญชาติเดียวในโลกกระมัง ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปในมุมไหนของโลก ยังต้องพกพา ‘ความเคยชินเดิมๆ ’ ตามไปด้วย เช่น รสชาติที่คุ้นลิ้น ไม่ว่าจะกินอาหารฝรั่งเศส อิตาเลียน จีน หรือญี่ปุ่น ต้องมีรสชาติไทยพ่วงไปด้วย โดยไม่เคยคิดจะเปิดใจเรียนรู้วัฒนธรรมการกินอยู่ของเพื่อนร่วมโลกที่มาจากชาติพันธุ์อื่นๆ เลย



-2-


หลังอาหารเที่ยง ซึ่งสิ้นสุดเมื่อเข็มนาฬิกาค่อนมาทางบ่ายมากๆ ก็ถึงเวลาออกเดินเยี่ยมชมเมืองกัน เวโรนา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “โรมันน้อย” หรือ Little Roman โดยที่นี่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ.2000 เพราะความกลมกลืนระหว่างสถาปัตยกรรมยุคเก่าแบบโรมัน ที่สอดประสานไปกับวิถีชีวิตปัจจุบันได้อย่างน่าทึ่ง


เวโรนา มีสิ่งปลูกสร้าง และสถาปัตยกรรมจากยุคคริสต์ศตวรรษที่ 1 ปรากฏอย่างโดดเด่น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น อารีนา ดิ เวโรนา (Arina di Verona) อัฒจันทร์ หรือเวทีแสดงละครกลางแจ้ง ซึ่งมีอายุประมาณ 2000 ปีนั่นเอง


อารีนา ดิ เวโรนา ก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 30 เป็นสถานที่จัดการแสดงเพื่อความบันเทิงให้แก่ผู้คนในยุคโรมัน ไม่ว่าจะเป็นเกมการแข่งขันล่าสัตว์ แข่งม้า หรือการแสดงละคร เดิมคาดเดาว่าน่าจะจุคนได้ถึง 30,000 คน มีรูปแบบเหมือนโคลอสเซียมในกรุงโรม แม้จะมีขนาดเล็กกว่า แต่ปัจจุบันที่นี่ยังคงสภาพที่สมบูรณ์โคลอสเซียมกว่าด้วยซ้ำ


ผนังด้านนอกก่อสร้างด้วยหินปูนสีขาวและสีชมพู ตามประวัติระบุว่า ในปี ค.ศ.1117 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้กำแพงอัฒจันทร์ชั้นบนสุดพังเสียหายลงมาเกือบทั้งหมด เหลือเพียงซุ้มหินโค้ง 4 ซุ้มที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยทุกวันนี้เมืองเวโรน่ายังใช้ในการจัดแสดงคอนเสิร์ต โอเปร่า รวมทั้งการแสดงต่างๆ อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน


สำหรับคนที่ไม่สนใจเรื่องขนาด (Size does not matter) ขอยืนยันว่า อารีนาของเมืองเวโรนานั้น กลับมีความเป็นเอกภาพ ลงตัว และมีเสน่ห์ มากกว่าอารีนาที่กรุงโรมเป็นไหนๆ



-3-


อารีนาของเมืองเวโรนา อาจจะเป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักเรียนสถาปัตย์ หรือคนเรียนศิลปะให้มาเยือนที่นี่สักครั้งในชีวิต เพื่อพิจารณาสัดส่วนรูปทรงเรขาคณิตอันแสนคลาสสิก ที่บรรพชนคิคค้นได้อย่างลงตัวมานานแล้ว


แต่สำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่หลงใหลกับเมโลดรามา ผ่านโศกนาฏกรรมของตัวละครอย่าง โรมิโอ และ จูเลียต ซึ่ง เช็คสเปียร์ นักเขียนชาวอังกฤษ ได้ประพันธ์ขึ้นจากกาพย์กลอนโบราณอีกทอดหนึ่ง เวโรนา คือฉากของความรักอันดูดดื่มและแสนรันทดของหนุ่มสาวคู่นี้


ขอโทษ อย่าได้เรียกเขาและเธอว่า ‘ลุงโรมิโอ’ และ ‘ป้าจูเลียต’ อย่างเด็ดขาด เพราะทั้งคู่จากโลกไปในวัยหนุ่มสาว ไม่เคยมีริ้วรอยของความเหี่ยวย่นมาลดทอนจินตนาการแสนงามลงได้ !


แม้จะสร้างขึ้นจากนิยาย แต่ตัวตนของโรมิโอและจูเลียตก็ปรากฏขึ้นเสมือนจริง ที่นี่จึงไม่เพียงมีร้านอาหารของโรมิโอ แต่เหนืออื่นใด ยังมีบ้านของจูเลียต ซึ่งจะด้วยเวทย์มนต์ของการตลาดหรือลัทธิอุปาทานอะไรก็ตาม คนอิตาเลียนได้พัฒนาให้โรมแรมเก่าๆ แห่งหนึ่ง กลายมาเป็นบ้านของจูเลียต แถมมีระเบียงให้สาวน้อยออกมาปรากฏโฉมฟังหนุ่มโรมิโอฉอเลาะรัก


จินตนาการไม่พอ ยังต้องตามด้วยรสสัมผัส จึงเป็นที่มาของรูปหล่อสัมฤทธิ์ของจูเลียต ที่ใครๆ ทั้งชายและหญิง ก็ไปลูบหน้าอกเธอจนมันวาว ด้วยความเชื่อว่าสัมผัสแล้วจะทำให้สมหวังเรื่องความรัก


Casa di Giulietta เป็นชื่อของ บ้านจูเลียต (อิตาเลียน ออกเสียงว่า จูเลียตตา) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 27 ถนน viacappello ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ที่นี่เพียงถูกอุปโลกน์ให้กลายเป็นบ้านของตระกูล ‘คาปูเล็ต’ ศัตรคู่แค้นกับตระกูล ‘มองตากิว’ ของโรมิโอนั่นเอง


ไม่น่าเชื่อว่า ทุกวันนี้มีคนหนุ่มสาวจากทั่วโลกหลั่งไหลมาเยือน ฝากลายเซ็นเอาไว้กับผนังกำแพงด้านข้าง บ้างลงทุนซื้อของที่ระลึกที่ทำขายนักท่องเที่ยว และมีไม่น้อยยอมจ่ายเงิน 6 ยูโร เพื่อจะขึ้นไปยืนบนระเบียงแห่งนั้น แล้วสูดดมบรรยากาศที่เสมือนว่า ครั้งหนึ่งจูเลียตเคยทำมาก่อน !



-4-


เสน่ห์อีกประการหนึ่งของเวโรนา คือความสงบนิ่งของอดีตกาลในพื้นที่กะทัดรัด มีโรงแรมเล็กๆ บนสิ่งปลูกสร้างจากยุคกลาง ที่ปรับเปลี่ยนภายในให้สอดรับกับความสะดวกสบายสมัยใหม่


ทุกจังหวะก้าวไปตามตรอกซอกซอยของเมืองนี้ ให้อารมณ์สุนทรีย์ อาจจะไม่ถึงขั้น ‘สโลว์ไลฟ์’ แต่ก็ใกล้เคียง คุณอาจจะเลือกจิบกาแฟร้านดัง ที่บาริสตาสาวใหญ่พร้อมจะส่งภาษาอิตาเลียนให้ฟังตลอดเวลา ทั้งที่เธอก็รู้ว่าคุณไม่มีวันเข้าใจ กับเมนูกาแฟกว่า 100 อย่าง ที่หากชิมให้ครบทุกสูตร คงนอนไม่หลับเป็นแรมเดือน


แค่ออกเสียงสำเนียง “คา-ปู๊-ชี้-โหน่” ให้ละม้ายคล้ายคลึงกับการออกเสียงของคนอิตาเลียน ก็เป็นความสุขแทบบ้าแล้ว


ภายในเวโรนา มีเรื่องราวแห่งอดีตให้จินตนาการ พร้อมๆ กับภาพสะท้อนของวิถีชีวิตปัจจุบันเสมอ ตัวอย่างเช่น จัตุรัส Piazza delle Erbe ที่เดิมเคยเป็นตลาดนัดขายสมุนไพรเมื่อหลายศตวรรษก่อน มาวันนี้ ได้กลายเป็นชุมชนที่มีร้านกาแฟเรียงราย โดยลานกว้างมุมหนึ่งยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมของชุมชน บางวันมีการแสดงดนตรี หรือการแสดงเต้นรำของเยาวชน


ไม่ไกลออกไปนัก ยังมี Piazza Dante ซึ่งอุทิศให้แก่กวีดังเต้ ที่มีชื่อเสียง เขาเป็นชาวฟลอเรนซ์ที่เคยลี้ภัยการเมืองมาใช้ชีวิตที่นี่ เมืองเวโรนา ไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจวรรณกรรมของเช็คสเปียร์เท่านั้น ที่นี่ยังมีกวีผลิบานขึ้นมาพร้อมด้วยผลงานที่ทรงพลังหลายต่อหลายคน เพราะบรรยากาศเสริมส่งให้เขียนกวีนิพนธ์มากกกว่าเล่นโทรศัพท์สมาร์ทโฟนอย่างมาก ดังกรณีของกวี Berto Barbarini ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีรูปปั้นสัมฤทธิ์ตั้งเด่นเป็นสง่าให้พบเห็นริมทาง


น่าเสียดายที่ทริปการเดินทางไปเช้าเย็นกลับของเราสิ้นสุดลงแล้ว กับขบวนรถไฟที่เร่งรัดให้ต้องทำเวลาอย่างแม่นยำ เพื่อเดินทางกลับไปยังนครมิลาน แน่นอนทีเดียวว่า เราตัดใจอำลาจากเมืองเล็กๆ ที่แสนน่ารักงดงามนี้ไปด้วยความประทับใจอย่างไม่วันลืม

................


การเดินทาง

จากเมืองมิลาน เดินทางด้วยเส้นทางรถไฟมุ่งสู่ทิศตะวันออก เวโรนา เป็นเมืองทางเหนือของอิตาลี ที่มีรูปทรงประเทศคล้ายรองเท้าบู้ต ค่าโดยสารรถไฟ 12 ยูโร


จากสถานีรถไฟ Verona Porta Nuova เดินทางต่อด้วยรถแท็กซี่ ประมาณ 10 นาที ค่าโดยสารประมาณ 10 ยูโร


ค่าเยี่ยมชม Arina di Verona 4 ยูโร/คน


ค่าเยี่ยมชม Casa di Giulietta 6 ยูโร/คน