ศาลฎีกายกฟ้อง'บัณฑิต สิทธิทุม' ยิงอาร์พีจีใส่กลาโหม

ศาลฎีกายกฟ้อง'บัณฑิต สิทธิทุม' ยิงอาร์พีจีใส่กลาโหม

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง "บัณฑิต สิทธิทุม" อดีตตำรวจวังน้ำเย็น คดียิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม ชุมนุมแดงปี 53

ในเหตุการณ์ชุมนุมแดงปี 53 พยานหลักฐานอัยการไม่ชัดเจน ศาลยกประโยชน์ให้จำเลย ขณะที่จำเลย เบี้ยวนัดไม่มาฟังตัดสิน 

ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.2317/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องส.ต.ต.บัณฑิต หรือนายบัณฑิต สิทธิทุม อายุ 48 ปี อดีตตำรวจ สภ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินผู้อื่น, ร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายจนเป็นให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันยิงปืนโดยใช้ดินระเบิดในที่ชุมนุม, ร่วมกันมีเครื่องยิงระเบิดไว้ในครอบครอง ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้, ร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้, ร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1,221, 222, 258, 265, 295, 358, 371, 376 ประกอบมาตรา 80 และ 83 และพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดไปในเมืองสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ. 2490

             

ตามฟ้องโจทก์ ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.53 จำเลยกับพวกอีก 1 คน ร่วมกันใช้เครื่องยิงจรวด อาร์.พี.จี.2 เล็งและยิงลูกระเบิดไปยังอาคารกระทรวงกลาโหม เขตพระนคร ทำให้นายศักดิ์ หาญสงคราม ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้สายเคเบิลโทรศัพท์ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสียหายเป็นเงินจำนวน 39,421 บาท โดยจำเลยกับพวกมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญ บังคับ รัฐบาลไทยให้ยุบสภา ทั้งยังสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือการก่อการร้ายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยมีเครื่องยิงจรวด อาร์.พี.จี.2  จำนวน 1 กระบอก ลูกระเบิดแบบสังหาร เอ็ม 67 จำนวน 3 ลูก ปืนกลมือ (เอ็ม3) ขนาด .45 จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืน .45 จำนวน 48 นัด เหตุเกิดที่แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงพระนคร เขตรพระนคร แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. เกี่ยวพันกัน   

โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.54 ให้จำคุก 38 ปี และให้ริบของกลาง ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี ได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.56 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานโจทก์หลายปาก เบิกความถึงสาระสำคัญตำแหน่งที่นั่งของคนร้ายไม่ตรงกัน ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การชั้นสอบสวน ศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา 

ต่อมาอัยการโจทก์ ยื่นฎีกา ขณะที่ ส.ต.ต.บัณฑิต จำเลย ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา    

อย่างไรก็ตาม วันนี้ เมื่อถึงเวลานัด ส.ต.ต.บัณฑิต จำเลย ก็ไม่มาศาล ซึ่งก่อนหน้านี้ในนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา จำเลยก็ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ เชื่อมีพฤติการณ์จงใจหลบหนี ศาลอาญา จึงให้ออกหมายจับตัวเพื่อมาฟังคำพิพากษา พร้อมสั่งปรับนายประกัน 1 ล้านบาทตามหลักทรัพย์ 

โดยนายประกัน จำเลย ได้แถลงต่อศาลว่า ยังไม่สามารถติดตามจำเลยได้ ศาลเห็นว่าครบกำหนดระยะเวลา 1 เดือนที่ออกหมายจับแล้วแต่ยังไม่มีตัวจำเลย จึงให้อ่านคำพิพากษาทันที 

ทั้งนี้คำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้ง 4 ปาก แสดงให้เห็นว่า พยานเห็นคนร้ายในเวลากลางคืน ซึ่งแม้จะมีแสงสว่างแต่ก็ยังเป็นข้อจำกัดในการมองเห็นและเป็นการพบคนร้ายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่น่าจะมองเห็นชัดเจนและจำหน้าคนร้ายได้แม่นยำ            

อีกทั้งพยานโจทก์ ที่เห็นคนร้าย ก็ได้รู้เห็นเหตุการณ์โดยบังเอิญ ซึ่งต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง ส่วนรถยนต์ของกลาง ที่โจทก์นำสืบว่ามีการซื้อขายต่อ ๆ กันมา จนกระทั่งมาอยู่ในความครองของจำเลย พยานโจทก์ไม่ได้ยืนยันอย่างชัดเจน เพราะขั้นตอนการซื้อขายใช้เวลาเพียงเล็กน้อย และที่โจทก์นำสืบว่า ผลการตรวจดีเอ็นเอ ของจำเลย ตรงกับดีเอ็นเอที่เจ้าหน้าที่ตรวจเก็บได้จากเสื้อแจ็คเก็ตสีดำ ของกลางที่ยึดได้จากภายในรถยนต์คันดังกล่าวนั้น จากรายงานผลการตรวจดีเอ็นเอ เป็นการตรวจหลังเกิดเหตุแล้วประมาณ 2 เดือน ซึ่งขัดแย้งกับผลการตรวจของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ที่ตรวจหลังเกิดเหตุทันทีและไม่พบดีเอ็นเอของจำเลย 

พยานบุคคลและพยานแวดล้อม มีความขัดแย้งกัน จึงมีเหตุให้สงสัยและยังมีพิรุธ อีกทั้งจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องจำเลย