นักวิชาการแนะต้องไม่มีอำนาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

นักวิชาการแนะต้องไม่มีอำนาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

"นักวิชาการ"แนะในงานเสวนา"รัฐธรรมนูญของปวงชนฯ" ให้ร่างรธน.ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ต้องไม่มีอำนาจอยู่เหนือรธน.

งานเสวนาเรื่อง"รัฐธรรมนูญของปวงชน จากหลากหลายมิติ" โดยความร่วมมือระหว่าง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ซึ่งมีวิทยากร ประกอบด้วย นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และนายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายวรวิทย์​ กล่าวในเวทีสัมมนาว่า เมื่อพูดถึงการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ผ่านมานั้น ยังคงมีอุปสรรคซึ่งเป็นปัญหาเดิม นั่นคือ สังคมประสบปัญหาการกระจุกตัวของรายได้  ตลอดจนการกระจุกตัวของอำนาจภายใต้ลัทธิรวมศูนย์อำนาจ โดยที่บางครั้งประชาชนก็เป็นเหยื่อของแผนพัฒนาที่คิดค้นโดยผู้มีอำนาจ เช่นโดยไล่ออกจากพื้นที่ เป็นต้น หากมองภาพใหญ่ จะทำให้เห็นว่า สิ่งที่เราจะต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญ  

นั่นคือการกระจายอำนาจ ซึ่งจะต้องให้ประชาชนในพื้นที่ส่วนร่วมในการตัดสินใจ ถึงจะแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำได้ นักการเมืองและผู้มีอำนาจหน้าที่ จะต้องร่างรัฐธรรมให้มีการยึดโยงกับประชาชน โดยส่วนตัวไม่ได้คาดหวังกับ  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะรู้ว่าใครมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังจะต้องพูดถึงเรื่องนี้ต่อไป เพราะเราต้องการระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะต้องดูด้วยว่าวิธีการดำเนินการและเป้าหมายที่วางไว้ สอดคล้องกันหรือไม่ โดยนายวรวิทย์ ชี้ว่ารัฐธรรมนูฉบับปี 2540 เป็นจุดเริ่มต้นที่ยอมรับกันได้ เพราะให้อำนาจยึดโยงกับประชาชน

ด้านนายประภาส กล่าวว่า ในส่วนข้อเสนอของการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขออย่าให้มองเรื่องของคอรัปชั่นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเป็นปัญหามิติเดียว เพราะยอมให้มีการละเมิดพื้นที่ทางการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยขณะนี้เราเข้าสู่การเมืองสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่มองผลประโยชน์ขของชาติเป็นที่ตั้ง แต่ต้องมีนโยบายที่ดี ให้พื้นที่กับประชาชนในการเสนอแนะเรียกร้อง และต่อรองได้

"วัฒนธรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น เปรียบได้กับการฉี่ไม่สุด เนื่องจากมีการอ้างถึงความไม่พร้อมของประชาชนอยู่เสมอ อ้างถึงความมั่นคง และยังคงกั๊กไม่ให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งในปัจจุบันเหตุผลที่นำมาอ้างเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น กฎเกณฑ์มีมากขึ้น และตัวประชาชนเองยังไม่ค่อยมีโอกาสเรียกร้องในเรื่องต่างๆ ซึ่งเราน่าจะนำบทเรียนสำคัญที่ผ่านมาแก้ไขปัญหา"นายประภาส กล่าว

ส่วนนายยุกติ กล่าวว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราอยู่ในวัฒนธรรมการเมือง 2 ขั้ว คือวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า มีความเชื่อในเรื่องของประชาธิปไตยที่ถูกตรวจสอบ และยอมรับการแทรกแซงอำนาจได้ ส่วนการวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่มีแนวคิดว่า การเลือกตั้งมีความน่าเชื่อถือ การเมืองที่อ้างคุณธรรมนั้นตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งโจทย์ของการร่างรัฐธรรมนูญในตอนนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้แนวคิดสองขั้วนี้ยอมรับ โดยรัฐธรรมนูญจะต้องสะท้อนโจทย์ของสังคมไทย 2 ข้อ คือ การโค่นล้มนักการเมืองที่โกง และต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน อีกทั้งยังต้องสะท้อนความกังวลในเรื่องการเมืองของทั้ง 2 แนวคิด ให้มีความสมดุลเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม สิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ขณะที่ น.ส.เบญจรัตน์ กล่าวว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีสนธิสัญญา ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นแทบจะไม่มีสภานะในระบบกฎหมายไทย เนื่องจากมีการเปิดให้มีการตีความโดยไม่ได้อิงหลักสิทธิมนุษยชน จะเห็นได้จากกระบวนการตุลาการของไทย พอมีการตีความว่านโยบายรัฐนี้ หรือกฎหมายนี้ ขัดกับรัฐธรรมนูญ ไหม เราจะพบว่าฝ่ายตุลาการไม่ได้นำหลักสิทธิมนุษยชนเป็นแกนกลางในการตีความ ซึ่งดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องยึดโยงกับหลักสิทธิมนุษยชน ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัญญากับประชาคมโลก

"รัฐธรรมนูญใดๆ ที่มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ฟังเสียงของประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีความหมาย ซึ่งเราจะต้องมีการผลักดันต่อไปให้กฎหมายรัฐธรรรมนูญเป็นของประชาชนจริงๆ ดังนั้นการเปิดเสรีภาพในกาแสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องที่จำเป็น หากต้องการร่างรัฐธรรมนูญให้มีความยั่งยืน"น.ส.เบญจรัตน์ กล่าวว่า 

ด้านนายปูนเทพ กล่าวว่า การที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูสุด จะต้องมีการระบุกลไกการพิทักษ์ และสามารถปรับใช้ได้จริง อย่างบางประเทศเช่นเกาหลีเหนือ ที่สามารถเขียนเรื่องของสิทธิเสรี ไว้อย่างสวยหรูได้ แต่ไม่ได้มีนำมาเขียนเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้จริงๆ ดังนั้นการที่จะทำให้เป็นรัฐที่ปกครองด้วยรัฐธรรมนูญจริงๆ จะต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปรัชญา หรือคำประกาศเท่านั้น และรัฐธรรมนูญจะต้องถูกสร้างเพื่อรองรับการใช้อำนาจ ไม่ใช่เครื่องมือปรับอำนาจที่มีอยู่แล้ว 

นายปูนเทพ กล่าวอีกว่า เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องไม่มีอำนาจที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายนี้จะถูกฉีกไม่ได้ เนื่องจากอำนาจทุกอย่างถูกรวมศูนย์ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว หากยังคงฉีกรัฐธรรมนูญได้เรื่อยๆ นั่นหมายความว่าเราไม่ได้ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด อย่างไรก็ตามการร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องทำให้บรรดาการใช้อำนาจต่างๆ ย้อนกลับไปสู่ประชาชน นี่คือเงื่อนไขที่นักกฎหมายจะต้องทำ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย หากแต่เป็นบางครั้งเขาไม่ได้คิดถึงหลักการทางรัฐศาสตร์มากกว่า