ฟ้าใหม่ของคนไร้บ้าน

ฟ้าใหม่ของคนไร้บ้าน

“สนามหลวงไม่ใช่บ้าน” เสียงจากคนไร้บ้านที่ “คุณ” อาจไม่เคยฟัง

“ระวังน้องพลอยด้วย” หญิงสาววัยสี่สิบกว่าตะโกนบอกลูกสาวที่นั่งอยู่ในซุ้มร้านขายของริมทางรถไฟสายตลิ่งชันให้ออกมา หลังได้ยินเสียงหวูดรถไฟดังใกล้เข้ามา

เด็กสาวเดินไปเรียกแมวตัวเล็กที่กำลังเดินอยู่กลางรางเหล็กให้เข้ามาฝั่งทางเข้า “ศูนย์พักคนไร้บ้าน "สุวิทย์ วัดหนู” (บางกอกน้อย)" บ้านหลังใหญ่ของครอบครัวนี้ และอีกหลายชีวิตที่ไม่อยากใช้ชีวิตแบบที่ไม่มีหลังคาไว้หลบแดดฝน ไม่มีความแน่นอนในมื้ออาหาร ไม่มีความมั่นใจในชีวิตริมทางอีกต่อไป

“มาอยู่นี่ ประมาณ 11-12 ปี ได้ ก่อนหน้านี้อยู่ที่ตลิ่งชัน (ศูนย์ที่พักคนไร้บ้านตลิ่งชัน)” หญิงคนเดิม จินตนา มีชิน หรือ นาง อดีตคนขายของริมทางสนามหลวงบอก

ตอนนี้นางเป็นแม่ครัวใหญ่ของโครงการแบ่งปันอาหารสำหรับแจกที่ลานคนเมือง โดยมีมูลนิธิพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิก้าวหน้า เครือข่ายสลัมสี่ภาค และเครือข่ายคนไร้บ้าน สนับสนุน ซึ่งใช้ “ศูนย์ฯ บางกอกน้อย” เป็นที่ทำอาหาร สำหรับเธอ ที่นี่จึงเป็นบ้านแสนอบอุ่นที่ได้คอยช่วยเหลือ “พี่น้อง” ด้วยกัน ไม่ว่าจะในด้านอาหาร อาชีพ และที่อยู่

ทุกๆ ห้าโมงเย็นในเวลาที่คนงานเลิกงาน นางกับลูกจะออกไปขายข้าว ไก่กอด และกับข้าว ตรงข้ามกับศูนย์ฯ มีเงินเก็บไว้เป็นต้นทุนของวันต่อๆ ไป และที่สำคัญ...เพื่ออนาคต

แม้ชีวิตเธอจะพ้นจากการต้องคอยหลบฝนในตู้โทรศัพท์ และลงตัวดีกับการเป็นแม่ครัวขายอาหารแถวนี้ โดยมีศูนย์ฯ บางกอกน้อยเป็นที่พักพิง แต่เธอก็ฝันที่จะมีบ้านของตัวเองสักหลัง

“บ้านเราต้องมีอยู่แล้วแหละ เพราะเราอยู่แบบนี้มันอยู่แบบไม่มีจุดหมาย” เสียงของนางยืนยันแน่ชัดถึงเป้าหมาย

อาจจะยากสำหรับคนไร้บ้าน แต่สำหรับคนที่มี “ศักยภาพ” แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องเกินตัวเลยหากคิดจะพัฒนาตัวเอง

ออมเพื่อบ้านใหม่

“อยู่ที่บ้านหลังนี้มาตั้งแต่เดือนสิงหา ปี ’57 ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเลย ก็มานอนเฝ้าของ อุปกรณ์ เครื่องมือ แล้วก็ทำบ้านไปด้วย” อ็อด มูลทา หรือ ไก่ อดีตคนนอนสนามหลวง วัย 51 เล่าถึงบ้านหลังคาสีฟ้าของตัวเองที่เขามีส่วนร่วมในการสร้างตั้งแต่แรกเริ่มจนวันนี้เกือบเสร็จสมบูรณ์เหลือเพียงใส่ประตูและต่อเติมห้องน้ำเท่านั้น

เวลานี้ที่ดินจำนวน 20 แปลงริมทางรถไฟ บริเวณพุทธมณฑลสาย 2 กำลังถูกปรับสภาพใหม่เพื่อเป็นที่ตั้งของชุมชนคนไร้บ้านที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง โดยช่างที่มาสร้างบ้านให้นั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นแรงงานจากคนไร้บ้านที่มาจากการชักชวนจากเวลาที่เครือข่ายฯ ไปแบ่งปันอาหารที่ลานคนเมือง

ไก่ ที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป โดยเฉพาะงานช่าง เป็นคนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสของตัวเอง เขาเลยออมเงินไว้ตั้งแต่ได้รับการชักชวนจาก “พี่น้อง” คนไร้บ้านให้มาอยู่ศูนย์ฯ บางกอกน้อย ในปี 2549 โดยออมเงินไว้กับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เดือนละ 150 บาท บางเดือนขาด ก็เติมทบให้เมื่อมี จนตอนนี้สามารถจ่ายค่าบ้านของตัวเองเดือนละ 701 บาท ได้อย่างสบายมาก

บ้านของไก่เป็นบ้านเดี่ยว ตามหลักเกณฑ์ของ “โครงการบ้านมั่นคงของคนไร้บ้าน” ของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เงินจำนวน 701 บาท แบ่งเป็นค่าเช่าที่ดินการรถไฟ 130 บาท ค่าผ่อนบ้าน 365 บาท ค่าเช่าที่ดินย้อนหลัง 106 บาท ค่าสวัสดิการ 30 บาท และเก็บเป็นเงินออมทรัพย์ไว้ 70 บาท ซึ่งสามารถเบิกออกมาใช้ได้ยามต้องการ

“ตอนเริ่มออม เขาบอกว่า ใครพร้อมที่อยากจะมีบ้าน เขาจะหาที่ให้ เราก็สนใจ มีบ้านหนึ่งหลังได้ สำหรับเรา เรื่องใหญ่มากนะ แต่เราทำได้ เราก็ภูมิใจ” ไก่บอกพร้อมรอยยิ้ม

“ที่สนามหลวงก็ไม่ทำอะไร เย็นก็นอน เช้าก็ไปเรื่อยเปื่อย เก็บของเก่าไปเรื่อย กินข้าววัด กินข้าวสมาคม เห็นคน (ไร้บ้าน) ขึ้นรถเมล์ข้างหน้า เราขึ้นข้างหลัง พอเขาลง เราก็ลงตาม ก็เลยรู้ว่ามีแจกข้าวสาร ปลากระป๋อง ตามที่นู่นที่นี่ ทุกวันนี้ผมเก่งแล้ว เรื่องไปรับข้าวเนี่ย แต่ปีนี้ไม่ได้รับเลย เพราะมาทำบ้าน”

บ้านหลังไม่ใหญ่ของไก่เป็นบ้านบุกเบิกที่เริ่มสร้างก่อน เวลานี้ยังมีบ้านเดี่ยว และบ้านรวมที่กำลังอยู่ระหว่างการฉาบปูน ทาสี เดินสายไฟ ถ้าบ้านรวมสร้างเสร็จจะมีห้องรองรับครอบครัวคนไร้บ้านได้หลังละ 8 ห้อง

ค่าใช้จ่ายของผู้ประสงค์จะอยู่บ้านรวม ตกที่คนละ 400 บาท แบ่งเป็นค่าสวัสดิการ 30 บาท เงินออมทรัพย์ 70 บาท และค่าบำรุงบ้านรวมเครือข่าย 300 บาท นอกเหนือจากนี้ยังมีค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ทั้งเจ้าของบ้านเดี่ยว และบ้านรวมจะต้องเป็นรับผิดชอบเอง ซึ่งก็เป็นข้อตกลงที่ว่าที่เจ้าของบ้านได้ทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงเสาเข็มของตัวเองแล้ว

“ผมตัวคนเดียว ถามว่า เป็นภาระไหม ก็ไม่นะ อาจมีเรื่องเงินออม 400 บาท แต่เงิน 70 บาทต่อเดือน มันเป็นของเรานะ สมมติเราออกไปข้างนอก เราก็ขอจากเครือข่ายไปได้ เขาอยากให้เรามีเงินก้อนไว้เก็บ” แดง-สุเมธ ป้องกันภัย วัย 53 สมาชิกเครือข่ายคนไร้บ้านอีกคน บอกถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกที่จะออมเพื่อบ้านรวม

“เคยเห็นคนที่ค้าของเก่าในที่สาธารณะ วันนึงกินเหล้าก็ 60 บาทไปแล้ว เป็นเดือนก็ 1,800 คือถ้าจะเก็บมันก็ได้ มันไม่เยอะหรอก” แดงยกตัวอย่าง

บ้านรวมของแดงยังไม่เสร็จดี แดงคิดไว้ว่า จะเข้าไปอยู่หลังปีใหม่ โดยเขาจะเป็นตัวตั้งตัวตีในการปรับพื้นที่บริเวณนั้นให้เป็นแปลงเกษตรหรือบ่อเลี้ยงปลาดุก

“เราก็ทำเกษตร เราจะได้พักผ่อนที่นู่นได้ แต่เราก็ทำ (เกษตร) ที่ศูนย์ฯ (บางกอกน้อย) ด้วย มีบ้านมันดี มันเป็นที่ส่วนตัว ผมจะนั่งสมาธิ สวดมนต์ อยู่ที่ศูนย์ฯ สมาธิมันไม่มี จะจุดธูปมันก็ไปฟุ้งเขา มันก็จะสร้างความรำคาญให้คนอื่น มีห้องของเรา เราก็อาจจะเปิดเพลงสวดมนต์ของเราไป” แดงเล่าถึงแผนในอนาคต

บ้านเปลี่ยนคน

ด้วยสภาพที่คนมองจากภายนอกและกำลังทรัพย์ที่น้อย ทำให้งานของคนไร้บ้านหนีไม่พ้นการเก็บของเก่าขาย ขายของมือสอง หรือรับจ้างทั่วไป เพื่อดำรงชีวิตวันต่อวัน แต่หากจะต้องมี “บ้าน” ขึ้นมาแล้ว การเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องอาชีพคือสิ่งสำคัญ

“เมื่อก่อนไปนั่งปรบมือตามรายการบ้างอะไรบ้าง รับจ้างดูงิ้วบ้าง ดูงิ้วนี่ต้องนั่งดูให้จบนะ เราได้ 150 คนหางานมาให้เขาเอา 50 แล้วก็มีแจกโบชัวร์ของห้าง ก็เอาตัวรอดไป แต่มันเหนื่อย นี่คือชีวิตคนไร้บ้าน” ไก่เล่าถึงชีวิตตอนที่มีแผ่นพลาสติกเป็นที่รองนอนอยู่ที่สนามหลวง

“ตอนนี้อาจจะเหมือนเดิมคืออะไรก็ทำหมด แต่เป็นงานที่เลี้ยงตัวเอง เช่น ถ้ามีงบมา ก็จะเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เราก็ต้องทำ อยู่เฉยไม่ได้หรอก อาจจะมีไก่ไข่ไว้ขาย เดี๋ยวก็จะไปดูงานเรียนรู้เรื่องพวกนี้กับเครือข่ายฯ” ไก่บอก

การเสริมเรื่องอาชีพภายในชุมชนเล็กๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าจึงเป็นเรื่องที่คนทำงานกับเครือข่ายคนไร้บ้าน นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ไม่ลืมขั้นตอนตรงนี้

“เราไปเสริมมากกว่า เช่น เกษตร ก็ไปพัฒนาให้มันมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ในเชิงผลผลิต รวมทั้งครบวงจรมากกว่านี้ แล้วตลาดมันมี แต่ว่าเขาก็ต้องทำ ทำให้สม่ำเสมอ ก็คุยกับกลุ่มเกษตร ทำตลาดสีเขียว เพียงแต่ต้องทำให้มันครบวงจร แล้วก็ผลิตให้มันสม่ำเสมอ มีของป้อน ก็จะมีรายได้เข้ามา อีกส่วนก็พยายามเอาที่เขาถนัดอยู่แล้ว เช่น กลุ่มอาชีพช่าง เวลาใครรู้ก็มาติดต่อ แล้วก็ออกไปทำนู่น ทำนี่ มันก็ดีกว่าไปทำเดี่ยวๆ เป็นกลุ่มก็พอรับเหมาได้ ศักยภาพก็จะเพิ่มขึ้น แล้วก็กลุ่มรับจ้างทั่วไป พยายามคิดอะไรแบบนี้ จากอาชีพเดิม เราก็เสริมกันไปว่า อันไหนจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วก็การประหยัดค่าใช้จ่ายจะทำยังไง เช่น การทำน้ำยาล้างจานใช้เอง พลังงานทางเลือก”

แดง ผู้ชื่นชอบการปลูกต้นไม้ บอกว่า ถ้าได้ย้ายไปอยู่บ้านใหม่แล้ว เขาก็จะลงมือปลูกผักเหมือนอย่างที่ทำอยู่ที่ศูนย์ฯ บางกอกน้อย

“ตรงนู้น (ริมทางรถไฟ พุทธมณฑลสาย 2) จะมีแปลงผักร้างอยู่ ประมาณ 3-4 ไร่ ผมไปคุยกับเจ้าของมาแล้วว่าที่ตรงนั้นเขาไม่ได้ทำแล้ว เรากะจะบูรณะตรงนั้น อาจจะเป็นผักที่ปลูกไว ขายไว เช่น ผักบุ้งจีน คะน้า แล้วก็จะเลี้ยงปลาในท้องร่อง เราก็จะเช่าเขา เขาจะให้เช่าในอัตราถูก เราก็บอกว่า เราจะทำในนามของเครือข่าย ก็มีหลายคนสนใจด้วย ถ้าทำกันจริงจัง มันก็ได้ผลกำไรงอกเงยเยอะเลย”

รอวันพร้อม

แม้บ้านจะมีความจำเป็น แต่ก็มีเหตุผลมากมายที่ทำให้คนมีบ้านตัดสินใจเข้าสู่โลกของการไร้บ้าน จากการสำรวจครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2558 มีคนไร้บ้านกว่า 1,400 คน ในกรุงเทพมหานครที่ยังขาด “สิทธิ” ขั้นพื้นฐานในชีวิต โดยคนที่อยู่ในเครือข่ายคอยติดต่อกับมูลนิธิต่างๆ ก็จะเป็นคนที่เข้าถึงการพัฒนาชีวิตได้มากกว่า พร้อมมากกว่า และถ้าคิดจะมี “บ้าน” ก็จะมีโอกาสมากขึ้น

“มาจากกระบวนการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย คือไม่ใช่ใครก็ได้ มาจากไหนก็ได้ที่จะมีบ้าน แต่ว่าเขาต้องผ่านกระบวนการกลุ่ม การดูนิสัยใจคอ เพราะว่า เวลาเขาไปอยู่ มันอยู่แบบชุมชน แล้วมันต้องมีกระบวนการพัฒนา ภายในชุมชนนั้นต่อ คือถ้าใครไม่รู้มาจากไหน นิสัยใจคอ แล้วก็มาอยู่ด้วยกัน มันจะเป็นปัญหา มัน(บ้านใหม่)จะสามารถอยู่ได้จริงๆ พ้นจากสภาวะของการไร้บ้านได้จริงๆ” นพพรรณบอก

คนวัยทำงานจะมีบ้านสักหลังยังต้องใช้เวลา “ผ่อน” เกือบทั้งชีวิต ไม่ต่างกันสำหรับคนไร้บ้าน ความพร้อมที่จะตัดสินใจว่าควรมีบ้านได้หรือไม่อยู่ก็ที่เรื่อง “การเงิน” และ “จิตใจ”

“อันแรก พร้อมในแง่ภาวะภายใน เรื่องจิตใจ ว่าเขาพร้อมจริงๆ อันที่สอง ดูกำลังทางเศรษฐกิจ เพราะว่า ก่อนการมีบ้าน มันก็ได้ประชุมกันบ่อย ถ้ามีบ้านมันต้องรับภาระอะไรบ้าง พร้อมมั้ย เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าที่ดิน หรืออะไรต่างๆ ที่จะเพิ่มมาเป็นภาระประจำเดือน คือถ้าเขารู้ว่า มันต้องมีภาระแบบนี้ เขาก็ยังยืนยันว่าเขาพร้อม เขาต้องดูตัวเองแล้วว่า ไหว”

อย่าง นาง แม่ครัวใหญ่ของศูนย์ฯ ที่เจ้าหน้าที่ของเครือข่าย เห็นว่า มีความพร้อม ก็ได้ชักชวนให้มีบ้านของตัวเองแล้ว แต่เธอเองยังไม่ได้ตกลง เพราะเธออยู่ระหว่างการ “เตรียม” ทุกอย่างให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็น เงิน งาน หรือใจ

“ออมไว้ 3-4 ปี แล้ว เพียงแค่ว่าจะลงตอนไหน” นางบอกถึงแผนในอนาคต

บ้านที่เธอและครอบครัวคิดไว้เป็น “บ้านเดี่ยว” เธอบอกว่า หน้าตาของบ้านคงเป็นหลังเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก แต่พอสำหรับให้สามี และลูกๆ 5 คน ได้อยู่กันพร้อมหน้า

“จริงๆ การเริ่มออมมันมีตั้งแต่เริ่มสร้างเครือข่ายมาเลย เพิ่งมาได้ประสบความสำเร็จตรงรุ่นนี้จริงๆ คนที่เสียชีวิตไปก็มีแล้ว เพิ่งจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างก็คือตรงนี้จริงๆ เราก็รอมานานพอสมควร คิดนะว่าอาจจะไม่มี พอโครงการขึ้นมา แล้วเราจะได้ที่ตรงนี้แล้ว แต่ก็เปลี่ยนรัฐบาล กลายเป็นว่า ต้องรออนุมัติอีกรัฐบาลหนึ่งไป” นางเล่าถึงฝันการมีบ้านที่ยาวนานของเขาและพี่น้อง

เมื่อโครงการเป็นจริงแล้ว เรื่องเงินออมสำหรับนางไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเธอสามารถเอาตัวรอดได้ แต่ความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชีวิตถ้าต้องย้ายที่นั้นมีมากกว่า

“เราต้องมีความพร้อมทุกอย่าง ทำบ้าน มันไม่ใช่เรื่องง่าย ระยะเริ่มแรกเขาเตรียมให้เรา แต่เราก็ต้องทำของเราเอง ต่อประตู หน้าต่าง อะไรแบบนี้ เรื่องความเป็นอยู่เท่ากับว่า เราต้องนับหนึ่งใหม่ อยู่ที่นี่เราชินกับสภาพแวดล้อมแล้ว สังคมก็อาจจะเป็นพวกเดียวกันนั่นแหละ อยู่กันมานาน แต่สภาพแวดล้อมมันต้องเปลี่ยนอยู่แล้ว ความเปลี่ยนแปลงมันมี กลับบ้านดึกดื่น รายได้มันอาจจะไม่เหมือนเดิม มันต้องเร่งกลับ ลูกก็อาจจะต้องกลับดึก เราก็เป็นห่วง” นางแสดงความกังวล

ที่สุดแล้ว สำหรับคนไร้บ้าน หากจะรับ “บ้าน” เข้ามาเป็นเรื่องหนึ่งของชีวิต คุณภาพชีวิตของการอยู่โดยรวมก็ต้องหนุนกัน เพื่อให้รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยมากกว่าที่ไม่มีบ้าน

“เราต้องทำให้ชุดแรกเขาอยู่ได้ ซึ่งมันจะมีผลต่อชุดหลังๆ ถ้าไปแล้วลอยแพ ไม่มีกระบวนการที่ไปหนุนเขาจริงๆ มันก็ใจมันฝ่อไปแล้ว มันอยู่ไม่ได้นี่ ถ้าไปอยู่แล้วล้มเหลวนี่มันสะเทือนคนหลังๆ เยอะมากที่จะท้อเลย”

การมีประตู หน้าต่าง หลังคา คงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะทำให้พ้นจากสภาวะ “ไร้บ้าน” แต่การใช้แต้มต่อของการมีบ้านฝึกฝนตัวเองให้ได้ ต่างหากที่จะทำให้คนไร้บ้านมีคุณภาพขึ้นได้

“สนามหลวงไม่ใช่บ้าน” แดงยืนยัน เพราะที่นั่นเป็นแค่ที่หลับนอน ที่อยู่ที่กิน ไปวันๆ

ต้องอยู่ได้ อยู่แล้วสบายใจ อยู่แล้วมีอนาคต... นั่นแหละถึงจะเป็น บ้านตามที่ควรจะเป็น