ภารกิจกรธ. ที่ต้องทำ

ภารกิจกรธ. ที่ต้องทำ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวม 21 คน รอ" พล.อ. ประยุทธ์" เซ็นแต่งตั้ง

ใกล้คลอดเต็มทนแล้ว สำหรับ“คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” (กรธ.) รวม 21 คน รอเพียง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เซ็นแต่งตั้งเท่านั้น   

สำหรับภารกิจของ กรธ.  นั้น นับว่าหนักหนาสาหัส เพราะต้องยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาให้ผ่านการทำประชามติให้ได้ เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์  ได้ไปพูดเป็นมั่นเหมาะในเวทีระดับยูเอ็น ว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งกลางปี 2560 

แต่การที่จะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้นั้น  กรธ. ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งตกไปในชั้น สปช. มาเป็นบทเรียนและศึกษา โดยนำเอา“ จุดเด่น” มาใช้ และแก้ไขในส่วนที่เป็น “จุดด้อย”  

หมายความว่า  สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำไปทำ “ประชามติ” ควรจะมี  ก็คือ  การให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนอย่างเต็มที่ ,  ดูแลประชาชนตั้งแต่หลังคลอด, การศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย ไปจนถึงมัธยมปลายหรืออาชีวะ  และทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม   

ให้มี “สมัชชาพลเมือง ” อย่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว  เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ที่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอนและมีส่วนร่วมในการพัฒนา  นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม 

เพราะว่า การให้ความสำคัญกับประชาชน นี่เอง จะเป็นแรงจูงใจในการที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ

แต่แค่นี้ยังไม่พอ  ต้องปรับปรุงแก้ไขในจุดที่อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน 

เรื่องแรก คือ  คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ในการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อจัดการสถานการณ์ความขัดแย้งหรือสถานการณ์ที่วิกฤติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีหรือกลไกที่มีอยู่ปกติ ไม่สามารถดำเนินการจัดการได้ ที่ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. ยังจำเป็นต้องมีหรือไม่ ในขณะที่ คสช. เห็นว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามปกติ  ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมี “ตัวเชื่อมโยง ” จะปล่อยเสียทีเดียวคงไม่ได้ 

- นายกรัฐมนตรีคนนอก   ซึ่งเรื่องนี้ ก็ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. เช่นกัน  แม้ว่า พล.อ. ประยุทธ์  จะยืนยันว่า จะไม่ขอเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหลังพ้นตำแหน่งไปแล้ว และปฏิเสธการเป็น “นายกรัฐมนตรีคนนอก ”  แต่ คสช. ไม่ได้มีแค่ พล.อ. ประยุทธ์ เพียงคนเดียว  อีกทั้งนักการเมือง ก็ต่อต้านเรื่องนายกฯ คนนอก ซึ่งนักการเมือง มีฐานเสียงจำนวนมาก หากไม่เอาด้วย ก็อาจส่งผลต่อการทำประชามติได้  

-ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  ที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม  โดยให้ ส.ส มาจากการเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบระบบสัดส่วน อ้างว่าเพื่อให้เหมาะสมกับสังคมไทย ที่ควรมีทั้งผู้แทนของประชาชนในเขตจังหวัด และเป็นผู้แทนของประชาชนที่ไม่มีฐานเสียงในเขตจังหวัด และจะเป็นการสะท้อนทุกคะแนนเสียงของประชาชน  รวมทั้งทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเข้ามาเป็นตัวแทนในสภาฯมากขึ้น แต่ก็ถูกคัดค้านจาก “ภาคการเมือง”อย่างมาก โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ เพราะเห็นว่าทำให้รัฐบาลอ่อนแอเป็นรัฐบาลผสม  เกิดการต่อรองของพรรคคร่วมรัฐบาล 

-ที่มา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมาจากการสรรหาทั้งหมด หรือ มี 2 ประเภท คือ เลือกตั้งและสรรหา  แต่มีเสียงเรียกร้องให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

4 ประเด็นที่ล่อแหลมนี้ กรธ. ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่า อันไหนจะเดินหน้าต่อ,เก็บพับไว้ หรือแปลงโฉม อย่างไรบ้าง