ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 31 ส.ค.- 4 ก.ย.58

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 31 ส.ค.- 4 ก.ย.58

“ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน ท่ามกลางกระแส FED ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย”

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38 - 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 43 - 48 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (31 ส.ค. – 4 ก.ย. 58)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยหลังสถานการณ์ตลาดหุ้นโลกเริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับการที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ น่าจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ก.ย. นอกจากนี้มีแนวโน้มที่ธนาคารกลางยุโรปอาจปรับเพิ่มวงเงินในการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มมากขึ้นหรืออาจจะทำการยืดระยะเวลาของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณออกไปจากเดือนที่สิ้นสุด ก.ย. ปีหน้าในการประชุมวันที่ 3 ก.ย. อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบอาจจะฟื้นตัวได้ในกรอบจำกัดเนื่องจากอุปทานน้ำมันส่วนเกินยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีสาเหตุจากผู้ผลิตกลุ่มโอเปคและสหรัฐ ยังคงปริมาณการผลิตในระดับสูง


ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

- จับตาท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ต่อการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หลังการปรับลดลงอย่างหนักของตลาดหุ้นทั่วโลกจากความกังวลเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าในการประชุมธนาคารกลางในครั้งถัดไปวันที่ 16 – 17 ก.ย. FED จะมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมหลังเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเปราะบางและมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทำให้ความกังวลของนักลงทุนลดลง จากผลสำรวจของนักวิเคราะห์ล่าสุดพบว่าเหลือเพียงร้อยละ 24 เท่านั้นที่คาดว่า FED จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในเดือน ก.ย.

- จับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 3 ก.ย. ว่าจะมีการปรับเพิ่มวงเงินในการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) หรือยืดระยะเวลาของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือไม่ จากปัจจุบันที่ ECB มีการเข้าซื้อสินทรัพย์มูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านยูโรทุกเดือนตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. ปีหน้า หลังการปรับตัวลดลงอย่างหนักของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนชะลอตัวลงและเงินเฟ้อของประเทศอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารกลางที่ร้อยละ 2

- ติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจจีนว่าจะมีทิศทางอย่างไร หลังการปรับลดลงของตลาดหุ้นจีนในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าของตลาดหุ้นจีนหายไปกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมของจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังการรายงานดัชนีการผลิต (Caixin PMI) ที่ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สร้างความกังวลว่าผลดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เนื่องจากจีนมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและเป็นคู่ค้าสำคัญกับหลายประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของสินค้าโภคภัณฑ์ สำหรับน้ำมันนั้นถือว่ามีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 11 ของการบริโภคทั้งหมด อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยพยุงตลาดหุ้นและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงร้อยละ 0.25 ประกอบกับลดอัตราเงินสำรองตามกฎหมายลงร้อยละ 0.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 18 ในขณะที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์จีนเองยังได้ออกมาตรการเพื่อจำกัดการซื้อขายหุ้นเพิ่มเติมโดยเพิ่มจำนวนเงินขั้นต่ำสำหรับการซื้อขายบัญชีมาร์จิ้นและการเพิ่มค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น

- ปริมาณนํ้ามันดิบคงคลังของสหรัฐ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ส.ค. 58 ปรับลดลงมากถึง 5.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 450.8 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศมีการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนยังคงกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปที่คาดว่าจะชะลอตัวลงหลังสิ้นสุดฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐ และโรงกลั่นน้ำมันโดยส่วนใหญ่ที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงอีกครั้งจะทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับเพิ่มขึ้นและสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ

- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตของประเทศจีน ยูโรโซน และสหรัฐ , ดัชนีภาคการบริการสหรัฐ , ดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตยูโรโซน , อัตราการว่างงานของยูโรโซนและสหรัฐ รวมถึงรายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 – 29 ส.ค. 58)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.77 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 45.22 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 4.59 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 50.05 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 46 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดทั้งจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคและสหรัฐ ที่ยังคงอัตราการผลิตน้ำมันในระดับสูงถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำก็ตาม อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนบางส่วนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงแรงซื้อของนักลงทุนบางส่วนที่กลับเข้ามาซื้อน้ำมันดิบในตลาดเพื่อเก็งกำไร หลังจากได้รับแรงจูงใจจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ

                                                      -----------------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-797-2999