ทยอยซื้อสะสมเพื่อลงทุนกลาง-ยาว

ทยอยซื้อสะสมเพื่อลงทุนกลาง-ยาว

เศรษฐกิจจีนชะลอตัวและตลาดหุ้นทรุดตัวแรง ทั้งนี้คำสั่งซื้อใหม่ในเดือนมิ.ย.2558 ของจีนยังไม่มีการขยายตัว

โดยดัชนีอยู่ในระดับ 50.1 (50 คือไม่ขยายตัว, ต่ำกว่า 50 คือหดตัว, สูงกว่า 50 คือขยายตัว) และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 54.2 อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นดิ่งลงกว่า 30% ในช่วง 1 เดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา โดยที่มาตรการพยุงตลาดหุ้นของทางการจีนช่วยได้ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของจีนที่ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในอัตราที่ไม่สูงไปอีกหลายปี และมาตรการจำกัดการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดหดตัวรุนแรง

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด...จะเริ่มเมื่อไรและจะเพิ่มกี่ครั้งในปีนี้ ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการทรุดตัวของหุ้นจีน และการจุดพลุด้วยการเร่งใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ ซึ่งในส่วนของเฟดที่ส่งสัญญาณมาในระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้ตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปี 2558 นี้เพราะภาคแรงงานที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง เศรษฐกิจ 2Q58 เติบโตเพิ่มเป็น 2.3% แม้จะต่ำกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ 2.5% แต่ก็ไม่มาก สิ่งที่ติดตามกันต่อ คือ จะเริ่มปรับขึ้นเดือนไหน และความหนักเบาในการปรับขึ้นเป็นอย่างไร โดยล่าสุดมีความเห็นว่าเฟดน่าจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วงก.ย.หรือต.ค.2558 และอาจปรับขึ้นมากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ โดยแต่ละครั้งขยับขึ้นไม่มาก (ราว 10-15 bps/ครั้ง)

กนง.มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกรอบ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยซบเซามากกว่าคาด ภาคส่งออกก็ยังหดตัวต่อ โดยในเดือนมิ.ย.2558 ลดลงถึง 7.9%YoY และช่วง 6M58 หดตัว 4.8%YoY ขณะเดียวกันอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็หดตัวลงแรงเหลือเพียง 50% กว่าๆ เท่านั้น บ่งชี้ว่าการผลิตซบเซามาก ด้านการบริโภคก็อ่อนแอ เนื่องจากผู้บริโภคในกลุ่มที่มีกำลังซื้อก็ขาดความเชื่อมั่น และกลุ่มระดับรายได้กลาง-ล่างถูกกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ภัยแล้ง และหนี้ครัวเรือนที่สูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เชื่อว่ากนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.50%)

ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็น Neutral (จากเดิม Slightly Underweight) ทั้งนี้ Valuation ของกลุ่มน่าจูงใจ โดยมี Forward P/E (หลังปรับลดประมาณการกำไรแล้ว) ต่ำเพียง 9.5 เท่า ขณะที่ตลาดอยู่ที่ 16.2 เท่า (ระดับปิด 27 ก.ค.2558) เพราะดัชนีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ร่วงลงถึง 21.5% ในช่วง 9 เม.ย.-27 ก.ค.2558 ขณะที่ SET ลดลง 8.6% โดยธนาคารที่มี Forward P/E ปี 2558 ลดลงมากกว่ากลุ่ม คือ KTB, KBANK และ SCB เราจึงเป็นจังหวะในการซื้อลงทุน โดยหุ้น Top Pick คือ KBANK

ทาง DBSV ให้กรอบ SET Index ช่วงที่เหลือของปี 2558 ไว้ที่ 1350-1500 จุด โดยมีค่า Median เท่ากับ 1432 จุด ทาง Quant Team ของ DBSV Thailand ได้ทำการวิเคราะห์โอกาสความเป็นไปได้ของระดับ SET Index ในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วยวิธี ERP ซึ่งพบว่าโอกาสความเป็นไปได้ (Propbability) ที่ดัชนีจะอยู่ในช่วง 1350-1500 จุดเท่ากับ 76% และมีค่า Median เท่ากับ 1432 จุด และด้วยการบริหารพอร์ตที่อิงหลักการ Asset Allocation เราจึงได้ Call ให้ทยอยเข้าซื้อหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีในช่วงที่ดัชนีลดลงไปต่ำกว่า 1430 จุดเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน โดยมีสัดส่วนการลงทุนใน Equity อยู่ที่ประมาณ 70% ของพอร์ตลงทุน

กลยุทธ์การลงทุน : แนะนำทยอยซื้อสะสมเพื่อลงทุนระยะกลาง-ยาว ( Accumulate) ภาพตลาดโดยรวมระยะสั้นมีโอกาสรีบาวด์ทางเทคนิคหลังร่วงลงแรง แต่ยังขาดปัจจัยกระตุ้นที่มีนัยสำคัญทำให้ระยะทางอาจจำกัด และไม่ทิ้งความผันผวนเพราะนักลงทุนเลือกที่จะซื้อ-ขายตามรอบไปก่อน โดยเฉพาะกลุ่ม Bargain Hunter อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนระยะกลาง-ยาว เรามองว่าเป็นจังหวะในการทยอยซื้อสะสมหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีโดยถอยรับเป็น Step โดยหลักทรัพย์ Top Picks เดือนส.ค.2558 เป็น INTUCH, KBANK, QH, RATCH, SCC และหลักทรัพย์ Dark Horse คือ CK, GL