'สุทิน'เยือนมาเลเซีย พลิกบทบาท รมว.กลาโหม เป็นเซลล์แมนประเทศ

'สุทิน'เยือนมาเลเซีย พลิกบทบาท รมว.กลาโหม เป็นเซลล์แมนประเทศ

“สุทิน” เยือนมาเลเซีย พลิกบทบาทกลาโหมจาก “ใช้เงิน” เป็น “หาเงิน” ดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยสู่ตลาดโลก ชี้ รัฐมนตรียุคใหม่ต้องเป็นเซลล์แมนประเทศ

8 พ.ค.2567 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวขณะเดินทางเยือนกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อร่วมงาน Defence Service Asia 2024 (DSA) ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2567 ว่า บทบาทของกระทรวงกลาโหมขณะนี้จำเป็นต้องปรับตัว จากเดิมที่เคยเป็นผู้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในภารกิจของกองทัพ และความมั่นคงนั้น มาเป็นการหารายได้เข้าประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจตลอดจนเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชาติ ผ่านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ตนไม่แน่ใจว่ารัฐให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าในยุครัฐบาลที่มีรัฐมนตรีกลาโหมชื่อ สุทินจะต้องทำเรื่องนี้ให้เต็มที่ และถ้าทำได้ดี การส่งออกอุตสาหกรรมประเภทนี้ จะนำเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศ อาจจะมากกว่าการส่งออกด้านเกษตรกรรม หรืออื่นๆด้วยซ้ำไป 

\'สุทิน\'เยือนมาเลเซีย พลิกบทบาท รมว.กลาโหม เป็นเซลล์แมนประเทศ

 

นายสุทิน ยังกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันมีภาคเอกชนของไทยหลายรายที่มีศักยภาพสูง สามารถส่งออกและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ อย่างเช่น บริษัทชัยเสรี เม็ททอล แอน รับเบอร์ จำกัด ที่วันนี้ได้ร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม โดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ซึ่งจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท TDI (Thai Defense Industry) ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสและช่องทางการส่งออกให้กับภาคเอกชนในลักษณะแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ได้ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยเองก็ต้องลดการจัดซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ หันมาสนับสนุนการผลิตที่เกิดจากภายในด้วยเช่นกัน แม้เราจะไม่สามารถทำได้ในคราวเดียว แต่อาจจะค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นเป็นขั้นบันไดได้ เพราะถ้าเราจะไปขายให้ต่างชาติ แต่ไม่มีการใช้ในกองทัพไทยเลย เราจะเอาเครดิตอะไรไปขาย หรือจะเอาอะไรอ้างอิงถึงประสิทธิภาพของสินค้าได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำเป็นนโยบายหลักของกลาโหมในยุคที่ตนเป็นรัฐมนตรี เพราะอย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรื่องของอาวุธเป็นรายจ่ายที่หนักของประเทศ ถ้าเราสามารถลดรายจ่าย และตีกลับให้เป็นรายได้ของประเทศ ลองคิดดูว่าจะมีมูลค่ามากแค่ไหน ดังนั้น ตนกำลังมาดูเรื่องของภาษีและค่าทำเนียมว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมได้อย่างไร รวมถึงได้หารือกับกระทรวงอุตสากรรมถึงแนวทางในการร่วมมือกันพัฒนาเรื่องนี้ให้มีเป้าหมายเดียวกันด้วย

\'สุทิน\'เยือนมาเลเซีย พลิกบทบาท รมว.กลาโหม เป็นเซลล์แมนประเทศ

นายสุทิน กล่าวด้วยว่า การเป็นรัฐมนตรียุคใหม่ต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนของประเทศ ซึ่งการที่ตนเดินทางเยือนต่างประเทศแต่ละครั้ง บทบาทอย่างหนึ่งคือการช่วยรับรอง สนับสนุน และนำเสนอภาคเอกชนของไทย ให้ได้รับความน่าเชื่อจากกองทัพของในประเทศที่ไป เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งตนก็ได้พบหารือกับรัฐมนตรีกลาโหม ผู้นำกองทัพ และภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ จนนำมาสู่ความก้าวหน้าในการที่จะมีแผนการจัดทำข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ดังนั้น ตนในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมจึงต้องมีความตระหนักและให้ถือว่าเป็นภาระหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องทำให้จริงจัง เพราะนอกจากจะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ลดรายจ่ายจากการนำเข้าแล้ว ยังสร้างมูลค่ามหาศาลล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจทั้งในภาคแรงงาน และภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เกิดความอย่างยั่งยืน

ส่วนนายกานต์ กุลหิรัญ กรรมการผู้จัดการบริษัทชัยเสรี เม็ททอล แอน รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทชัยเสรี เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง Defense Land System และยุทโธปกรณ์ทางทหาร มีฐานการผลิต ทีมวิศวกรและช่างจากในประเทศไทย มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับ ส่งออกไปขายในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ ดังนั้น การที่กระทรวงกลาโหมกำลังมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่จะกำหนดให้กองทัพเริ่มทะยอยซื้อยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในประเทศมากขึ้นนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการที่จะเร่งพัฒนาสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังช่วยลดรายจ่ายของภาครัฐได้อย่างมหาศาล เพราะการซ่อมบำรุง การขนส่ง การอัพเกรดซอฟแวร์ ช่าง หรือ อื่นๆ ก็จะทำได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องส่งกลับไปประเทศต้นทาง เพราะในทุกกระบวนการมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก 

\'สุทิน\'เยือนมาเลเซีย พลิกบทบาท รมว.กลาโหม เป็นเซลล์แมนประเทศ

นายกฤต กุลหิรัญ ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทชัยเสรี เม็ททอล แอน รับเบอร์ จำกัด ฝากทิ้งท้ายว่า ต้องขอขอบคุณกระทรวงกลาโหมที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งทางบริษัทเป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่มีโอกาสได้ร่วมคณะในการเยือนประเทศต่างๆ กับรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งตนได้มีโอกาสร่วมคณะไปเยือนอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย การที่ชัยเสรีได้ร่วมกับกระทรวงกลาโหม จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ TDI นั้น จะทำให้รัฐบาลและกองทัพประเทศต่างๆ เกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในสินค้าและยุทโธกรณ์มากขึ้น เพราะแต่ละชิ้นล้วนมีมูลค่าที่สูงมาก หากเราขายแบบ G to G หรือรัฐต่อรัฐย่อมเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจจากผู้ซื้อ เพราะบางประเทศไม่ซื้อตรงจากเอกชนเลย ดังนั้นวันนี้เรามีท่านรัฐมนตรีเป็นเซลล์แมนให้ ภาคเอกชนก็มีความคล่องตัวมากขึ้น ประเทศได้กำไร เกิดการจ้างงานจ้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง สุดท้ายตนอยากฝากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องของข้อกฎหมายที่ยังมีบางอย่างยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการที่รัฐบาลของเราควรจะต้องมีนโยบายเรื่อง offset policy เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนในชาติจากการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ โดยให้คำนึงถึงการจ้างงาน และการชดเชยไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมให้กับคนในประเทศเป็นสำคัญ