รัฐเร่งแก้หนี้ครัวเรือน ชี้ฉุดกำลังซื้อประเทศ

รัฐเร่งแก้หนี้ครัวเรือน  ชี้ฉุดกำลังซื้อประเทศ

"ประยุทธ์"เตรียมออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ขอความร่วมมือแบงก์รัฐ-พาณิชย์‘ชะลอชำระ-พัก’หนี้ หลังกำลังซื้อชะลอ ฉุดความเชื่อมั่นลงทุน

รัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือหนี้ภาคครัวเรือน หลังจากประเมินว่าส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและมีผลต่อเนื่องต่อการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่ฟื้นตัว แม้รัฐบาลพยายามผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

หนี้ครัวเรือนของไทยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้ในปีนี้ชะลอตัวลง แต่ยังมีสัดส่วนที่สูง ซึ่งก่อนหน้านั้น นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ประเมินว่าหนี้ครัวเรือนจะส่งผลกระทบมากขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากมีสัดส่วนสูงราว 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4 วานนี้ (29 ก.ค.) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมว่าปัญหาหนี้สินครัวเรือนก็ 3 แสนกว่าล้านบาท รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้หลุดจากตรงนี้ เพราะระยะสั้นคงทำไม่ได้ แต่ทำได้เพียงบรรเทาตามความเร่งด่วน

สำหรับหนี้สินครัวเรือน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ากำลังรวบรวมข้อมูลและต้องมาแยกแยะว่าต้องมีการช่วยเหลือในเรื่องการชะลอชำระหนี้และพักหนี้ โดยใช้ทั้งกลไกของรัฐและธนาคารพาณิชย์ 

“ถ้ามันช่วยแก้ไขตรงนี้ได้ แล้วมีรายได้เพิ่ม มันถึงจะยุติ ถ้าแก้ไปอย่างนี้วันหน้าก็เกิดขึ้นอีก ถ้ารายได้มันยังไม่เกิด ถ้าเขาจะทำการเกษตรอยู่แบบนี้ มันก็เป็นแบบนี้ วันหน้ามันก็กลับมาใหม่ อีก 3 แสนล้านบาทอยู่อย่างนี้ ท่านก็ต้องช่วยเรา 2 ทางคือ ถ้าเขาเริ่มลดหนี้ตรงนี้ไปได้ ลดการใช้จ่ายของท่านได้ โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย แล้วช่วยลดหนี้สินไปอีกระยะ มันจะค่อยๆดีขึ้นเอง มีบัญชีครัวเรือนด้วย แต่ถ้าเอาเงินอย่างเดียวมันก็กลับมาที่เก่าหมด เพราะไม่แก้ในระบบ ไม่แก้ในตัวของตัวเอง ในครอบครัวตัวเอง เพราะฉะนั้นต้องดู”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ารัฐบาลดูทั้งหมด ทั้งหนี้ครู หนี้เกษตรกร และหนี้คนประเทศ แต่การเป็นหนี้ครัวเรือน รัฐบาลค่อยๆแก้ไป เพียงแต่ไม่อยากให้เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบ อย่างพ.ร.บ.การเช่าที่ดิน ให้ราคาเป็นธรรม และพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ รัฐบาลออกไปแล้วเพื่อความเป็นธรรม

“วันนี้รัฐบาลนึกถึงคนจนมากกว่าคนรวย จำคำพูดผมไว้ แต่ทำไมถึงต้องทำให้คนรวยเขาด้วย เพราะมันสร้างห่วงโซ่ถึงกัน ถ้าเขาลงทุนตรงนี้ได้ เกิดตรงนี้ได้ โดยรัฐอำนวยความสะดวกในสิ่งที่มันถูกต้อง ชอบธรรม เป็นธรรม เป็นการค้าเสรี แข่งขันกัน เขาก็เดินหน้าของเขาไป เราก็จะส่งเสริมสนับสนุน เปิดตลาดต่างๆ เพื่อให้เขาเอาเงินกลับเข้ามาในประเทศ เชื่อมโยงกับธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก มันก็จะเกิดกลไกเหล่านี้ ที่ผ่านมา มันไม่ได้โยงกันแบบนี้ มันก็ดึงกันทั้งระบบอย่างนี้แหละ” นายกฯกล่าว

ชี้ผลกระทบนโยบายในอดีต

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าสิ่งที่น่ากังวลคือ ระดับหนี้ครัวเรือนที่บีบรัดและปัจจุบันสูงขึ้นมากและใกล้ระดับ 80% แล้ว จากนโยบายกระตุ้นกำลังซื้ออย่างหนักในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะนโยบายรถยนต์คันแรกเป็นปัจจัยหลัก ทำให้คนไทยระดับกลางถึงล่างชะลอการใช้จ่าย ไม่ได้เพราะเศรษฐกิจไม่ดีจึงชะลอการใช้จ่าย เพราะหากดูภาพรวมการใช้จ่ายของคนระดับบนที่มีกำลังซื้อมากจะพบว่ายังมีการใช้จ่ายปกติตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ท่องเที่ยวต่างประเทศก็มีจำนวนมาก

“ยอมรับว่ามาตรการที่จะกระตุ้นกำลังซื้อของชนชั้นกลางถึงล่างที่เห็นผลเร็วที่สุด คือ การลดราคาสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะการขายสินค้าได้กำไรน้อยย่อมดีกว่าการขายสินค้าไม่ได้ แต่ก็เป็นมาตรการที่ไม่ยั่งยืนนัก โดยเรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัวผม หากจะดำเนินการจริงก็ต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตร และคลัง”

บอร์ดขับเคลื่อน“ไร้มาตรการใหม่”

วานนี้(29 ก.ค.) มีการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ โดยมีนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อสองสัปดาห์

แต่การประชุมยังไม่มีมาตรการใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีเพียงการวางกรอบทำงานที่จะเร่งรัดเงินค้างท่อทั้งในระบบงบประมาณ และนอกงบประมาณ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามคาด

นายสมหมาย กล่าวว่าขณะนี้ภาครัฐยังเหลือเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกประมาณ 5 แสนล้านบาท คาดภายใน 2 เดือนนับจากนี้ไป จะมีการเร่งรัดผ่านคณะกรรมการชุดนี้ ให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 3.5 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินภาครัฐจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตได้ราว 3%

ยอมรับเอกชนยังไม่เชื่อมันลงทุน

นายสมหมาย ยอมรับว่า ขณะนี้ภาคเอกชน ยังไม่มีความเชื่อมั่นในการลงทุนใหม่ เพราะสินค้าขายไม่ออก เมื่อขายไม่ออก ก็ไม่มีการผลิตใหม่ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ พวกบริษัทค้าปลีกต่างๆ แม้ประชาชนจะมีรายได้ แต่ไม่ได้นำไปใช้จ่าย กลับนำไปชำระหนี้ แม้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนจะมีอัตราเพิ่มที่ลดลง แต่เป็นเพราะไม่มีความสามารถในการกู้เงิน เพราะมีหนี้สินเต็มเพดานแล้ว ดังนั้นต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน

“สิ่งที่คณะกรรมการชุดนี้ จะดำเนินการได้ ไม่ใช่ออกมาตรการ หรือ อัดเงินใหม่ๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะอัดไปเท่าไร เอกชนก็ยังไม่ลงทุน และอย่าคิดจะเอาเงินไปแจก เหมือนกรณีแจกเงินช่วยชาวนา เพราะเศรษฐกิจในขณะนี้ ไม่เหมือนขณะนั้น เนื่องจาก ชาวนา โดนกระชากเรื่องของโครงการจำนำทำให้ราคาข้าวตกต่ำ แต่ขณะนี้ ปัญหาไม่เหมือนกัน แต่เราก็อาจจะให้ความช่วยเหลือบ้าง ซึ่งเราคิดว่า ราคาสินค้าเกษตรจะดีขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง”

เร่งทุกส่วนราชการเบิกเงินค้างท่อ

นายสมหมาย กล่าวว่าคณะกรรมการฯเห็นว่าแนวทางที่เหมาะสม คือ การเร่งรัดนำเงินที่ค้างจ่ายออกจากท่อ โดยผ่าน 1.โครงการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งรวมถึง กรณีที่สำนักงบประมาณ จะดึงงบประมาณลงทุนส่วนที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ มาตั้งไว้ในงบกลางด้วย โดยในเบื้องต้น คาดว่า มีเม็ดเงินรวม 1.57 แสนล้านบาท 2.กระตุ้นการลงทุนผ่านกองทุนหมุนเวียน โดยเบื้องต้น มีงบที่กำลังเร่งรัดลงทุน 2.5 แสนล้านบาท และ 3.การปรับปรุงการบริหารจัดการสหกรณ์ โดยให้เงินออมผ่านสหกรณ์นี้ เปลี่ยนเป็นสินเชื่อให้แก่สมาชิก เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้มากขึ้น

“คณะกรรมการชุดนี้ ที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนทุกกลไกให้เม็ดเงินไหลออกจากทุกระบบ ทั้งระบบการเงิน การคลัง และ ธุรกิจของภาคเอกชน เพื่อให้เม็ดเงินได้เข้าสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะรวบรวมตัวเลขงบทั้งหมด เพื่อดูว่า อยู่จุดไหน ค้างตรงไหน และทำหน้าที่เป็นกลไกในการผลักดัน และช่วยแก้ไขปัญหา โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรีทุกๆ 2 สัปดาห์”เขากล่าว

เผยตุลาคมเงินไหลเข้าระบบ7หมื่นล.

นายสมหมาย กล่าวด้วยว่า นอกจากการเร่งรัดให้งบประมาณไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว ในเดือนต.ค.นี้ รัฐจะโอนเงินให้แก่ข้าราชการ 2.49 แสนราย ที่ขอกลับเข้าใช้สิทธิในระบบบำเหน็จบำนาญจากเดิมที่อยู่ในระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)จำนวนประมาณ 7.01 หมื่นล้านบาท และ จะมีเงินที่โอนเข้าไปให้แก่ข้าราชการบำนาญอีกประมาณ 1.22 พันล้านบาททุกเดือน ดังนั้น ก็เชื่อว่า เศรษฐกิจจะต้องเดินไปได้อีก

เผยผลเบิกจ่ายงบลงทุน52.7%

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่าผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2558 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณถึงวันที่ 24 ก.ค. 2558 โดยวงเงินงบประมาณรวม 2.575 ล้านล้านบาท สามารถเบิกจ่ายได้ 2.046 ล้านล้านบาท หรือ 79.5% ของวงเงินงบประมาณรวม 

แบ่งเป็นการเบิกจ่ายงบประจำ 1.81 ล้านล้านบาท หรือ 85.1% ของงบรายจ่ายประจำ 2.125 ล้านล้านบาท รายจ่ายงบลงทุน 2.37 แสนล้านบาท หรือ 52.7% ของวงเงินรายจ่ายลงทุน 4.49 แสนล้านบาท

ผลการเบิกจ่ายถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 2557 ที่เบิกจ่ายได้ 75.2% ของงบรายจ่ายรวม 1.89 ล้านล้านบาท และปี 2556 ที่เบิกจ่ายได้ 75.7% ของงบรายจ่ายรวม 1.82 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบการเบิกจ่ายงบลงทุนกับปีก่อนหน้า จะพบว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณนี้ อยู่ในระดับที่สูงกว่าปี 2557 เบิกจ่ายงบลงทุนได้ 46.2% ของงบลงทุน 2.24 แสนล้านบาท และ 47.4% ของงบลงทุน 2.17 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2556

สำหรับผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีของปีงบประมาณ 2548-2557 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ2558 จนถึง 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เบิกจ่ายได้ 1.88 แสนล้านบาท หรือ 53.7% ของวงเงินรวมของเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีทั้งหมด