นายกฯสั่งหาแนวทางร่วมบริจาคเข้าบัตรทอง

นายกฯสั่งหาแนวทางร่วมบริจาคเข้าบัตรทอง

"พล.อ.ประยุทธ์" นายกฯ สั่งสธ.หาแนวทางประชาชนร่วมบริจาคเข้ากองทุนบัตรทอง ระบุคนไทยทุกคน ร่วมได้คล้ายเข้ามูลนิธิ

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) กล่าวระหว่างการประชุมบอร์ด สปสช. ว่า นายกรัฐมนตรี ยืนยันชัดเจนว่าไม่มีนโยบายยกเลิกหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคแต่เป็นห่วง ในเรื่องงบประมาณ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าจะดำเนินการให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร จึงสั่งการให้กระทรวงไปพิจารณาแนวทางที่จะทำให้ระบบบัตรทองมีความยั่งยืน มีเงินเข้ามาไม่ขาดโดยไม่ต้องอาศัยเพียงงบประมาณจากภาครัฐอย่างเดียว 

นอกจากนี้ นายกฯยังอยากเห็นประชาชนบริจาคเงินเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้สธ.และกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาแนวทางและเอาไปหักภาษีได้อย่างไร โดยการบริจาคในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้บริจาคเฉพาะผู้ที่มีสิทธิบัตรทองกว่า 48 ล้านคนเท่านั้น แต่หมายถึงคนไทยทุกคนที่มีความประสงค์จะร่วมบริจาคก็สามารถทำได้คล้ายบริจาคเข้ามูลนิธิ

“ผมได้ตั้งกรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ มีนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน มีดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา ส่วนคณะกรรมการ อาทิ ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สปสช. สถาบันวิจัยระบบสุขภาพแห่งชาติ สำนักพัฒนาระบบสุขภาพระหว่างประเทศ สภาวิจัยเพื่อการพัฒนาระเทศไทยไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เป็นต้น โดยมีหน้าที่พิจารณากลไกที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงินของระบบหลักประกันสุขภาพ” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวหลังการประชุมบอร์ดสปสช.ว่า บอร์ด สปสช.ได้รับทราบผลการติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของสปสช.ของคณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจน ที่ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งขึ้นซึ่งข้อสรุปที่สำคัญ อาทิ รพ.สามารถนำเงินเหมาจ่ายรายหัวไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำในกิจการของ รพ.ได้ ไม่ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ

 รวมถึง สปสช.สามารถนำเงินส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไปสนับสนุนหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่รพ.ดำเนินการไดั เพราะเป็นไปเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการไม่เป็นการขัดต่อพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545และการจ่ายค่าตอบแทนเกี่ยวกับการล้างไตผ่านช่องท้อง ถือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ไม่ขัดต่อพรบ.หลักประกันฯแต่เสนอว่าการที่สปสช.จ่ายเงินโดยตรงให้บุคลากรโดยไม่ผ่านหน่วยบริการอาจไม่เหมาะสม ควรจ่ายให้กับหน่วยบริการเพื่อนำไปจ่ายให้บุคลากรในสังกัดตามระเบียบเงินบำรุงหรือเงินรายรับของสถานพยาบาล

"ผลการดำเนินการทั้งหมด ได้มีการนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และความเข้าใจที่ถูกต้องจะมีการนำเสนอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไปเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว

อนึ่ง ดร.อัมมาร เคยเป็นกรรมการบอร์ด สปสช. และ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังในบอร์ด สปสช. ส่วน นพ.สุวิทย์ เคยเป็นคณะกรรมการบอร์ด สปสช. ในวาระ 2550-2554 เช่นเดียวกัน