'กมธ.ร่างรธน.'วางเป้าปรับร่างรธน.รายมาตรา เสร็จ28ก.ค.นี้

'กมธ.ร่างรธน.'วางเป้าปรับร่างรธน.รายมาตรา เสร็จ28ก.ค.นี้

"กมธ.ร่างรธน." วางเป้าปรับร่างรธน.รายมาตรา เสร็จ28ก.ค.นี้ เริ่มเข้าหมวดการเมืองแล้วลุย2วันให้เสร็จหมวดส.ส.

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ วาระพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ตามคำขอแก้ไขและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นวันทีแปด ได้เข้าสู่หมวด3รัฐสภา โดยก่อนการพิจารณา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมในวันนี้ (6ก.ค.) จะพิจารณาในหมวด3ในส่วนของส่วนที่1บททั่วไป ตั้งแต่มาตรา96 – มาตรา102และ ส่วนที่2ว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่มาตรา103 –มาตรา120โดยคำขอแก้ไขที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำเสนอมาในส่วนที่เกี่ยวข้องนั้น ที่ประชุมจะนำมาพิจารณา อย่างไรก็ตามในการประชุมรอบที่ผ่านมาในประเด็นโครงสร้างทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง และจำนวน ส.ส. ที่มีข้อตกผลึกร่วมกันมาก่อนหน้านั้น เช่น ปรับการเลือกตั้งส.สแบบบัญชีรายชื่อจาก 6 ภาค เป็นบัญชีเดียว คือ บัญชีประเทศ , ปรับไม่ให้มีการใช้สิทธิ์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งจัดลำดับส.ส.บัญชีรายชื่อได้ (โอเพ่นลิสต์) และให้ใช้ระบบหยั่งเสียงจากสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งนั้นๆ แทน, ปรับลดจำนวน ส.ส.เขตเลือกตั้งจากเดิมมีจำนวน250คน ไปเป็น300คน และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิม200คนปรับเป็น150คน จะนำมาพิจารณาในการปรับปรุงรายมาตรา ขณะที่ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมนั้นที่ประชุมได้คงไว้ตามเดิม โดยจะไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยากของการลงคะแนนเลือกตั้งโดยประชาชน เพราะการคิดคำนวณจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้ จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่าสำหรับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้นจะพิจารณารายมาตราในวันที่8ก.ค. นี้ โดยขณะนี้ประเด็นที่มายังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้แนวทางใด แต่ประเด็นอำนาจหน้าที่นั้นได้ตกผลึกแล้ว เช่น ส.ว.ไม่มีอำนาจในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.), ไม่มีสิทธิตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นต้น อย่างไรก็ตามกรอบการทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณาปรับปรุงเป็นรายมาตรานั้น ได้กำหนดให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่28ก.ค. นี้ จากนั้นจะเป็นลำดับที่เชิญสปช. ผู้เสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมมาชี้แจงและรับฟังภาพรวมของการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นช่วงนี้จึงไม่ต้องนำรายงานความคืบหน้าไปแจ้งต่อที่ประชุมสปช. ให้รับทราบ มีเพียงการแจ้งความคืบหน้าในที่ประชุมกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฎิรูปแห่งชาติ (วิปฯ สปช.) เท่านั้น

ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่าสำหรับการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่ผ่านมานั้น ในมาตรา1 –มาตรา95เบื้องต้นได้รับเสียงตอบรับจากภาคส่วนต่างๆ เป็นอย่างดี ซึ่งตนพอใจ เนื่องจากการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญในรอบสอง เป็นรายมาตรานั้น ที่ประชุมได้ยึดประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นหลัก โดยไม่มีผู้ใดที่ยึดประโยชน์ของตนเอง อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้ไขแล้ว จะมีจำนวนมาตราลดลง ประมาณ20มาตรา จากเดิมที่มี315มาตรา