อธิบดีประมงชี้ไม่ต้องกังวล สินค้าอาหารทะเลขาดตลาด

อธิบดีประมงชี้ไม่ต้องกังวล สินค้าอาหารทะเลขาดตลาด

"จุมพล" อธิบดีกรมประมง เชื่อหลังเดือนหงาย-มรสุม เรือประมงออกทำประมงตามปกติ ยืนยันจะไม่มีปัญหาสินค้าไม่ขาดแคลน

เนื่องจากเรือถูกต้องตามกฎหมาย-ประมงพื้นบ้านยังออกเรือตามปกติ ตั้งคำถามปรับราคาสัตว์น้ำด้วยเหตุอะไร

นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” หลังจากที่ลงพื้นที่จ.สงขลา เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่สำหรับเรือประมงในพื้นที่


จุดแรกเรือที่จอดเทียบเท่าเรือประมงสงขลา ตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่เป็นเรือไดหมึก มีเรืออวนล้อม เนื่องจากว่าเป็นช่วงเดือนหงาย ส่วนเรือที่มีขนาดเล็กก็ประสบปัญหาเรื่องคลื่นลมแรง เพราะฉะนั้นเรือที่จอดเทียบท่าเรือประมงสงขลาไม่ใช่เรือที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีอนุญาตทำการประมงเพียงอย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเขามีเรือที่เข้ามาเพื่อจอดในช่วงเดือนหงาย


“ก็คือเรืออวนล้อม เรือไดหมึก เรือปลากะตัก ซึ่งต้องใช้แสงไฟล่อ กลุ่มนี้ก็เข้าจอดเทียบท่าในช่วงนี้”
กลุ่มที่สองเป็นเรือที่มาเพื่อเตรียมน้ำแข็ง เตรียมเสบียง เตรียมน้ำมันเพื่อจะออกไปทำการประมงอีกรอบ และกลุ่มที่สามก็กลุ่มที่เทียบท่าเพื่อที่จะเตรียมเกี่ยวกับเรื่องของเอกสารต่างๆให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อจะออกทำการประมงได้เพราฉะนั้นจึงเชื่อว่าพอผ่านช่วงระยะเวลานี้ไป ผ่านช่วงเดือนหงาย ผ่านช่วงลมมรสุมแรงๆ เรือที่จอดเทียบท่าก็จะออกไปทำการประมง โดยเฉพาะเรือประมงที่มีใบอนุญาตครบถ้วน


“ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตก็จะมาให้บริการหน่วยเคลลื่อนที่ ในขณะเดียวกันก็พบว่ายังมีการนำเรือออกอยู่ มีการตรวจเรื่องแรงงาน เรื่องของเอกสารต่างๆ”


เพราะฉะนั้นเรือที่ถูกต้องตามกฎหมายกำลังออกเดินทางไปทำประมง รวมกับเรือที่เตรียมสเบียง เตรียมน้ำแข็ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรือประมงเหล่านี้เขาพร้อมที่จะออกไปทำการประมง สรุปแล้วเรือที่จอดเทียบเท่าตอนนี้ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็มีเรือที่เขาไม่สามารถจะออกเรือได้ เนื่องจากยังมีเอกสารเกี่ยวกับใบอนุญาตทำการประมงที่เขายังขอไม่ได้ โดยเฉพาะเรืออวนลาก เรืออวนรุน แล้วก็เรือคล้องครอบยกปลากะตัก และอวนล้อมปลากะตัก ซึ่งเรือพวกนี้มีระเบียบของกระทรวงเกษตรควบคุมจำนวนเครื่องมือเหล่านี้ไม่ให้เพิ่มขึ้น
โดยมีรายละเอียดระบุไว้ว่าผู้ที่จะมาขอใบอนุญาต หรืออขออาชญาบัตรเครื่องมือประเภทเหล่านี้ได้ จะต้องมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนคุม เพราะนั้นถ้าไม่มีเขาก็จะเข้ามาไม่ได้


“การออกใบอนุญาตทำการประมงให้ได้เฉพาะผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนคุม คือถ้าผู้มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนคุมมีการขออนุญาตมาอย่างถูกต้อง สำหรับเครื่องมือทั้ง4ประเภทนี้เขาก็ออกไปทำการประมงได้”


แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนคุม แล้วพอมาขอทางเรา ทางราชการก็ออกให้ไม่ได้ สรุปก็คือผู้ที่มาขอใบอนุญาตเรือประเภทนี้ต้องมีรายชื่อในทะเบียนคุมเท่านั้น


นายจุมพล กล่าวว่า การปรับราคาสัตว์น้ำทั้งๆเรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายยังออกทำการประมงอยู่ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมอาจจะต้องถาม ว่า มันมีเหตุผลอะไรที่จะต้องปรับราคาสัตว์น้ำ เพราะการหยุดทำการประมงหยุดมาได้ 2-3 วัน ก็มีข่าวออกมาทั้งที่ยังไม่ได้หยุดเลยว่ามีการปรับราคาสัตว์น้ำ เพราะอะไร ผมคงไม่ต้องตอบว่าเป็นเพราะอะไร เป็นเครื่องหมายคำถามทิ้งไว้


“มันเป็นการอะไรก็ไม่รู้แหละ เพราะเรือที่อยู่ในข่ายหรือว่าผู้ที่อยู่ในข่ายที่ไม่สามารถมาขอใบอนุญาตทำการประมงได้ ก็มีอยู่ 3,072 ลำ”


เป็นเรืออวนลากและอวนรุนที่ต้องการจะมาขอแล้วเราออกให้ไม่ได้ 2,514 ลำ ที่เป็นปลากะตกก็มีทั้งล้อม มีทั้งครอบยกปลากะตัก อะไรพวกนี้ 558 ลำ แต่ในจำนวน 3,072 ลำนี้ ก็มีเรือที่มีขนาดเกิน 30 ตันกรอส ที่จะต้องไปผ่านกระบวนการแจ้งเข้าแจ้งออกประมาณ 1,600 ลำ กลุ่มนี้ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่จะโดนผลกระทบเป็นลำดับแรก ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการแจ้งเข้าแจ้งออกก็ต้องทำตามกฎหมายเหมือนกัน


ฉะนั้นประชาชนที่มีความกังวลว่าสัตว์น้ำจะขาดแคลน คงไม่ใช่ เนื่องจากมีเรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ยังออกไปทำประมงอยู่แล้ว และก็ยังมีเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดเล็กกว่า 30 ตันกรอส ที่ถูกต้องก็ยังทำการประมงอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่จะมาอ้างว่าสินค้าขาดแคลน


“ไม่ว่าจะเป็นปู ปลา หมึกก็ยังทำการประมงอยู่ได้ สำหรับเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วเรือที่มีอาชญาบัตรถูกต้องอย่างอวนลาก อวนรุนที่มีถูกต้องตามกฎหมายอยู่ประมาณ 3,000 กว่าลำทั่วประเทศ เรือปลากะตักที่ถูกต้องอีก 800 กว่าลำก็ยังออกทำการประมงได้ตามปกติ”


อย่างที่มาดูที่เท่าเทียบเรือสงขลาเห็นชัดเจนว่าเรือที่จอดเทียบท่า ส่วนใหญ่เป็นเรือไดหมึก เป็นเรือปลากะตักที่ต้องใช้แสงไฟล่อ ไม่สามารถออกทำการประมงได้ เนื่องจากเป็นช่วงเดือนหงาย และมรสุม นั้นประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกว่าสินค้าจะขาดแคลน