'14นศ.'อ้างข้อกฎหมายไม่พร้อมให้สอบสวน

'14นศ.'อ้างข้อกฎหมายไม่พร้อมให้สอบสวน

เผย14นศ.อ้างข้อกฎหมายไม่พร้อมให้สอบสวน ส่วนนักกฎหมายขอให้ยกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ประชาไท รายงานว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมานั้นพนักงานสอบสวน สน. สำราญราษฎร์ได้นัดหมายทนายความของสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและสอบคำให้การ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ประสานกับทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อขอใช้ห้องประชุมในการให้การแล้ว แต่เมื่อพนักงานสอบสวนมาถึงปรากฏว่าไม่สามารถใช้ห้องได้

โดยนายรังสิมันต์ โรม ผู้ต้องหาที่ 1 เพื่อได้รับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวนแล้ว ได้ให้การว่า “ตนประสงค์จะให้การต่อสู้คดี แต่เนื่องจากขณะที่พนักงานสอบสวนมาสอบสวนข้าพเจ้า ณ สถานที่นี้นั้นไม่มีความเหมาะสมเพราะมีอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้สภาพจิตใจและร่างกายไม่พร้อมกับการให้การ ประกอบกับข้าพเจ้าประสงค์ที่จะรวบรวมพยานหลักฐานประกอบคำให้การ แต่ยังไม่สามารถเตรียมได้ทันเนื่องจากทราบนัดหมายกระทันหัน

อีกทั้งเพื่อนที่ถูกจับกุมพร้อมกับข้าพเจ้าก็ถูกแยกการคุมขังทำให้ยังไม่สามารถปรึกษาหารือเกี่ยวกับข้อเท็จจริงได้ และห้องซึ่งใช้ในการสอบสวนในวันนี้ทนายความไม่อาจฟังการตอบโต้ระหว่างข้าพเจ้าและพนักงานสอบสวนได้อย่างชัดเจนทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถปรึกษาทนายความได้ จึงไม่ชอบด้วยวิธีการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอมีการสอบสวนคราวหน้า และขอให้มีห้องสอบสวนที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัว เหมาะสมและสามารถให้ทนายความร่วมฟังการสอบสวนได้ตามกฎหมายกำหนด”

ส่วนสมาชิกรายอื่นๆ ปฏิเสธที่จะให้การในวันนี้ เนื่องจากเหตุผลเดียวกัน ประกอบกับความล่าช้าในการเบิกตัวผู้ต้องขังออกมา คือเบิกตัวมาในเวลา 14.30 น. ซึ่งเรือนจำใกล้ปิดทำการ โดยเมื่อถึงเวลา 15.00 น.ทางเรือนจำได้ปิดสัญญาณโทรศัพท์ทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้ชัดเจน

ซึ่งสมาชิกรายหนึ่งได้กล่าวว่า “เมื่อศาลทหารยังสามารถเปิดทำการในช่วงเวลา 1.00 น.ได้ เหตุใดจึงไม่สามารถหาห้องสอบสวนที่เป็นการส่วนตัวได้”

อย่างไรก็ตาม ด้านนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว มีอาการเจ็บและชาร่างกายซีกซ้าย ซึ่งตอนนี้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า

“ข้าพจ้าปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ข้าพเจ้าเห็นว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าทำเป็นการกระทำโดยสุจริตตามสิทธิพลเมืองที่ประเทศไทยทำข้อตกลงไว้กับสหประชาชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ใช่รัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายมายึดอำนาจจากประชาชนซึ่งถือว่าเป็นกบฎ”

ทั้งนี้ คณะทนายความได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในห้องเยี่ยมผู้ต้องขังของทนายความนั้นเป็นห้องขนาดเล็ก มีลูกกรงและพลาสติกกั้นระหว่างห้อง สื่อสารกันโดยใช้โทรศัพท์ เมื่อทนายความและพนักงานสอบสวนรวมกันกว่า 20 คนจึงทำให้ห้องยิ่งคับแคบและไม่อาจสื่อสารได้ชัดเจน อีกทั้งห้องดังกล่าวเป็นการใช้ร่วมกันกับทนายความคดีอื่นๆทำให้เกิดความไม่สะดวกในการให้การทั้งคดีของขบวนการประชาธิปไตยใหม่และคดีอื่น ๆ

ขณะเดียวกันกลุ่มทนายความและนักกฎหมายนำโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สั่งไม่ฟ้องนักศึกษาทั้ง 14 คน เพราะการแสดงความคิดเห็นโดยสงบและสันติไม่ใช่อาชญากรรม โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังต่อไปนี้

ขณะเดียวกัน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เเละทนายความนักกฎหมายรวม78 รายชื่อออกแถลงการณ์เรื่อง เรียกร้องให้สั่งไม่ฟ้องนักศึกษาทั้ง 14 คนเพราะการแสดงความคิดเห็นโดยสงบและสันติไม่ใช่อาชญากรรม

จากกรณีจับกุมกลุ่มนักศึกษา 14 คน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 ปัจจุบันนักศึกษาทั้ง 14 คน ถูกฝากขังโดยอำนาจศาลทหารนั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เห็นว่านักศึกษาทั้ง 14 คนได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการใช้อำนาจของ คสช. และสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจภายหลังการรัฐประหารในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการชุมนุมแสดงความคิดเห็นโดยสันติวิธี ไม่มีการใช้ความรุนแรง และไม่มีพฤติการณ์หรือการกระทำใดที่จะถือได้ว่ากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ในทางกลับกัน การกระทำดังกล่าวถือเป็นการสะท้อนปัญหาสังคมและปัญหาปากท้องของชาวบ้านที่นักศึกษาได้รับรู้จากการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาด้วยตนเองอย่างจริงจัง เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงให้กับประชาชนซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสิ่งเดียวกันกับความมั่นคงของรัฐ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) นักกฎหมาย ทนายความ และบุคลากรที่ทำงานด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การแสดงความเห็นของนักศึกษาทั้ง 14 คนที่แตกต่างจากรัฐโดยสันติวิธี จึงถือเป็นนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิด ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) ที่รัฐไทยเป็นภาคี และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 4 ได้รับรองพันธกรณีดังกล่าวที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม ด้วยเหตุผลดังกล่าว การกระทำของนักศึกษาจึงไม่ถือว่าเป็นความผิด การดำเนินคดีนักศึกษา 14 คนต่อไป ย่อมจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามดำเนินคดีกับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ลักษณะดังกล่าว ย่อมเป็นการใช้อำนาจโดยปราศจากความเป็นธรรม กระทบต่อความมั่นคงในชีวิต สิทธิเสรีภาพ และหลักประกันสิทธิของประชาชนเสียเอง

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) องค์กร และบุคคลดังมีรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงขอเรียกร้อง ดังต่อไปนี้

1. ให้พนักงานสอบสวนและ/หรืออัยการศาลทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนักศึกษาทั้ง 14 คน และปล่อยตัวไป เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิด แต่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักการสันติวิธี และปราศจากความ รุนแรง

2. ให้ คสช.ยุติการเจรจาในลักษณะกดดันญาติของนักศึกษา อันอาจถือได้ว่าเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของ บุคคลเหล่านั้น อีกทั้งควรยุติให้ข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นลดความน่าเชื่อถือ และอาจจะเป็นการสร้างความเกลียดชังต่อนักศึกษา ซึ่งอาจจะนำพาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น ความมั่นคงในสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือความมั่นคงของรัฐ