นายกฯแจงทูตยูเอ็น เลือกตั้งก.ย.59

นายกฯแจงทูตยูเอ็น เลือกตั้งก.ย.59

นายกฯแจงทูตยูเอ็น 12 ประเทศ คาดมีเลือกตั้งเดือนก.ย.59 หากมีการทำประชามติ

ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ณ นครนิวยอร์ค จากประเทศต่างๆ 12 ประเทศ ประกอบไปด้วย แอนติกาและบาร์บูดา บุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คอโมโรส สาธารณรัฐโดมินิกัน กาบอง กานา ฮังการี คิริบาส นาอูรู แคเมอรูน และวานูอาตูเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยตามโครงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรของประเทศไทย (Friends of Thailand) ที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเข้าพบว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาและความจำเป็นที่ต้องเข้ามาบริหารประเทศ จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและความคืบหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่างฉบับแรกให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช. )พิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติม จากนั้นจะนำเสนอร่างที่แก้ไขใหม่ให้ สปช.เห็นชอบ หากจะต้องมีการทำประชามติ กำหนดการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไป อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกันยายนปี 2559 ทั้งนี้ การดำเนินการทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซง และขอยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการอยู่ในตำแหน่งและไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ แต่ต้องอดทนเพื่อประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมา ความขัดแย้งต่างๆ ทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแล และขอย้ำว่า ประเทศไทยกำลังสร้างระบบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐที่มีประสิทธิผล โดยมุ่งมอบอำนาจให้แก่ประชาชน ส่งเสริมธรรมาภิบาลและความโปร่งใสบทบาทไทยในกรอบพหุภาคี  

พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกฯย้ำว่า ประเทศไทยต้องทำงานอย่างหนักเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเคารพสิทธิมนุษยชน และการรับมือกับภัยคุกคามดั้งเดิมและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ประเทศไทยเชื่อมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และพร้อมเสมอที่จะทำงานกับทุกประเทศในฐานะหุ้นส่วน นอกจากนี้ ไทยเชื่อมั่นในนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และสร้างความเข้มแข็งในทุกเสา คือ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ-ความกินดีอยู่ดี และด้านสังคมวัฒนธรรม โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก โดยหลักการนี้ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศ และเช่นเดียวกันกับในกรอบ  

“คณะทูตได้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประเทศไทยนั้นน่าอยู่ เต็มไปด้วยมิตรภาพ และได้ให้กำลังใจการทำงานของรัฐบาล ที่เห็นได้ชัดว่าทำเพื่อประโยชน์สุขของประเทศและคนไทย ซึ่งคณะทูตได้เห็นด้วยในการทำให้ประเทศก้าวหน้านั้น ความมั่นคงและเสถียรภาพต้องมาก่อน เรื่องอื่นจึงจะตามมา และเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยมีความมั่นคงและเสถียรภาพ” พล.ต.วีรชน กล่าว  

พล.ต.วีรชน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้นายกฯ ได้เล่าถึงการแก้ไขปัญหาการโรฮิงญาว่า ปัญหาที่เปิดขึ้นนั้น เกิดความความไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียมกัน และต้องมองไปที่สาเหตุของปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นกลางทางหรือปลายทาง ซึ่งปัญหาดังกล่าวทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ใครรับผิดชอบส่วนใดก็ต้องแก้ปัญหาในส่วนนั้น และร่วมมือกันเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข