SST - เก็งกำไร

SST - เก็งกำไร

ปรับประมาณการลงจากผลขาดทุนมากกว่าคาด

ระยะสั้น Greyhound ยังไม่หนุนผลประกอบการ

หลังเซ็นสัญญาขายแฟรนไชส์ Greyhound café ในมาเลเซีย เราได้ข้อมูลจาก Mudman (บริษัทย่อย) ว่าจะรับรู้รายได้จากการขาย (First time fee) ใน 4Q58 ราว 6 – 7 ล้านบาท และเปิดสาขาแรกได้ใน 1Q59 ถือว่าช้ากว่าสมมติฐานของเรา อย่างไรก็ตามจะมีการทยอยเปิดสาขาใหม่ในต่างประเทศเพิ่มเติมราว 4 สาขา (จีนและฮ่องกง) ในปีนี้เข้ามาทดแทน ในขณะที่การขยายสาขาในประเทศยังเป็นไปตามเป้าที่ 2 สาขาใน 1H58 แต่เนื่องจากเป็นระยะแรกของการเปิดสาขา เราคาดจะยังไม่ส่งผลบวกต่อผลประกอบการ 2Q58 มากนัก

2Q58 คาดยังมีแนวโน้มขาดทุน

เราคาดยอดขาย 2Q58 จะเติบโตแต่ไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับ 1Q58 เพราะเป็น Low season ของ Au bon pain (สัดส่วนรายได้ 25%) แม้ร้านอาหารแบรนด์อื่นยังมีทิศทางที่ดีขึ้น จากยอดขายสาขาเดิมเป็นบวกเทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่เราเชื่อว่าการเติบโตดังกล่าวจะไม่สามารถชดเชยกับค่าใช้จ่ายคงที่ในระดับสูงได้ ส่งผลให้คาดผลประกอบการ 2Q58 มีโอกาสขาดทุนราว 10 ล้านบาท ต่อเนื่องจาก 1Q58 ก่อนที่จะฟื้นตัวดีขึ้นช่วง 2H58 อย่างไรก็ตามสำหรับผลประกอบการทั้งปีเรามองว่าจะยังไม่น่าสนใจนัก แม้มีโอกาสพลิกกลับมาเป็นกำไรจากแรงหนุนของรายได้ขายแฟรนไชส์ แต่ในส่วนของการดำเนินงานมองว่ายังมีความเสี่ยงขาดทุน

ปรับประมาณการลงสะท้อนผลขาดทุน

เราปรับประมาณการกำไรปี 58 – 59 ลดลงเป็น 27 และ 79 ล้านบาท จาก 174 และ 204 ล้านบาทตามลำดับ สะท้อนผลขาดทุนใน 1Q58 แย่กว่าคาดมาก และมีแนวโน้มขาดทุนต่อเนื่องใน 2Q58 จากค่าใช้จ่าย SG&A ที่ขยายตัวสูง จากภาระต้นทุนคงที่ของกลุ่ม Greyhound (GH) ซึ่งโดยเปรียบเทียบแล้วสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายของ GH สูงกว่ากลุ่มธุรกิจอาหารที่มีอยู่เดิมของ SST ราว 10% เราจึงปรับเพิ่มสมมติฐาน SG&A จากระดับ 56% ของยอดขายเป็น 59 – 60% ในระยะ 2 ปีข้างหน้า

แนะนำ “เก็งกำไร” ต่อการฟื้นตัวของผลประกอบการใน 2H58

ภายใต้ประมาณการใหม่ เราประเมินมูลค่าเหมาะสมด้วยวิธี DCF (WACC 8.1% และ Terminal growth 3%) มูลค่าเหมาะสมปี 58 เท่ากับ 16.80 บาท (จากเดิม 23 บาท) เทียบเท่า 2.3 เท่า P/B ปี 58 ใกล้เคียงกับการซื้อขายของกลุ่มอาหารที่ 2.5 เท่า โดยเรามองผลประกอบการมีโอกาสฟื้นกลับมีกำไรใน 2H58 แต่ด้วยสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทถือว่าค่อนข้างน้อย (อัตราส่วนสภาพคล่องที่ 0.5 เท่า) เราประมาณว่า SST มีความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งเงินจากการเพิ่มทุนหรือการก่อหนี้เพิ่มเติมหากมีการขยายธุรกิจอาหารด้วยการลงทุนซื้อแบรนด์ใหม่ๆ จึงคงคำแนะนำ “เก็งกำไร”