'สสปท.'องค์กรอิสระแห่งใหม่ ยกระดับความปลอดภัยลูกจ้าง

'สสปท.'องค์กรอิสระแห่งใหม่ ยกระดับความปลอดภัยลูกจ้าง

(รายงาน) "สสปท." องค์กรอิสระแห่งใหม่ ยกระดับความปลอดภัยลูกจ้าง

เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536 หรือเมื่อ 22 ปีก่อน ที่ส่งผลให้มีลูกจ้างเสียชีวิต 188 ราย และบาดเจ็บ พิการ อีกเป็นจำนวนมากนั้น เป็นโศกนาฏกรรมที่ทิ้งบาดแผลและความสูญเสีย ตอกย้ำความเจ็บปวดให้ทุกฝ่ายได้จดจำมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะครอบครัวของคนงานที่เสียชีวิตในกองเพลิง


เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นอุทาหรณ์ให้สังคมหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องการ “รักษาความปลอดภัย” แก่กลุ่มผู้ใช้แรงงานมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นในสภาพความเป็นจริงทุกวันนี้ก็ยังมีแรงงานอีกเป็นจำนวนมากที่ยังทำงานอยู่ท่ามกลางความสภาพความเสี่ยงต่ออันตรายและโรคภัยซึ่งยังไม่ได้รับการดูแล


เมื่อเกิดอุบัติภัยในการทำงานแต่ละครั้ง เราจึงยังเห็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น รวมทั้งผลกระทบที่ตามมาอย่างมหาศาล ลูกจ้างต้องบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ และบางรายเสียชีวิต ส่งผลกระทบไปถึงสมาชิกในครอบครัวอีกหลายชีวิต ขยายวงไปถึงความมั่นคงทางธุรกิจของผู้ประกอบการ บรรยากาศลงทุน และที่สุดคือระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย


หลายภาคส่วนจึงได้พยายามคิดค้น เสนอแนะ และพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น


ล่าสุด สถานการณ์ด้านความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างกำลังจะมีการยกระดับขึ้นอีกครั้ง โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เตรียมจัดตั้ง สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์กรมหาชน) หรือ สสปท. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระแห่งใหม่ที่จัดตั้งขึ้นตาม มาตรา 52 ของพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ซึ่งพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา และจะต้องสรรหาบอร์ดให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน


นายวรานนท์ ปิติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน บอกว่า ภารกิจหลักของ สสปท. คือ การทำงานด้านวิชาการ ศึกษาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาชีวอนามัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะทุกวันที่ผ่านไปจะมีเทคโนโลยี และรูปแบบการผลิตสินค้าแบบใหม่ๆ ตลอดจนสารเคมีใหม่ๆ เกิดขึ้น จึงต้องมีสถาบันที่คอยติดตามและพัฒนาองค์ความรู้ให้เท่าทันโลก รวมไปถึงการค้นคว้าวิจัย การจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน


จากนั้นจึงนำความรู้ทางวิชาการนี้ไปให้คำแนะนำกับนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อป้องกันและพัฒนาให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน


เขาบอกว่า การพัฒนาด้านความปลอดภัยในการทำงานจะต้องทำงานแบบบูรณาการ โดย สสปท. มีหน้าที่ค้นคว้า วิจัย และศึกษาความรู้ใหม่ๆ ด้านอาชีวอนามัย จากนั้นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ ความถูกต้องของมาตรฐานสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของ กสร. ก็จะตรวจสอบสถานประกอบกิจการต่างๆ ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ


“หากเราพูดถึงเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เราจะพบว่าแต่ละงาน แต่ละสาขาอาชีพก็มีความแตกต่างกันไป เช่นการทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานหลายชั่วโมง การถลุงเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และอื่นๆ อีกมากมายนั้น จะก่อให้เกิดโรคภัยจากการทำงานกับลูกจ้างอย่างไรบ้าง ซึ่ง สสปท.จะเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาข้อมูลว่ามีผลกระทบอย่างไร ควรป้องกันหรือแก้ไขด้วยวิธีใด โดยจะมีการให้ข้อเสนอแนะออกมาในรูปของการออกกฎหมายใหม่ และการสร้างระบบต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน”


เขาย้ำว่า เรื่องจิตสำนึกด้านความปลอดภัยของทั้งนายจ้างและลูกจ้างเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากละเลยก็อาจเกิดอันตราย เช่นการสวมหมวก และคาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุยังสามารถลดความรุนแรงจากความเสียหายได้


แต่ความจริงที่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งคือ สถานประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอีจะมีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานที่ยังตามหลังสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก


“นอกจากจะมีกฎหมายบังคับแล้ว ยังต้องอาศัยจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ของทั้งนายจ้าง และลูกจ้างอีกด้วย ซึ่งเรื่องจิตสำนึกเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง”


ด้าน นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวถึงการตั้ง สสปท.ว่า องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้ แม้จะเป็นองค์กรที่ทำงานด้านวิชาการก็สามารถทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การสร้างแนวทางป้องกันและแก้ไขเพื่อให้ลูกจ้างได้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานสูงขึ้น


“ขอฝากไปถึงผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานขององค์กรใหม่แห่งนี้ว่า วิธีคิด วิธีการทำงาน จะต้องเปลี่ยนไปจากแบบเดิม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อผู้ใช้แรงงานที่ดีขึ้น”


ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ณ เดือน ส.ค.2557 พบว่า มีสถานประกอบกิจการทั้งสิ้น 419,652 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบกิจการขนาดกลางซึ่งจะมีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน และสถานประกอบกิจการขนาดเล็ก ซึ่งจะมีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน โดยทั้งสองส่วนดังกล่าวรวมแล้วมีประมาณ 80% ของสถานประกอบกิจการทั้งประเทศ


ข้อมูลชี้ว่า สถานประกอบกิจการขนาดกลางและเล็กเป็นกลุ่มที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการทำงานมากกว่าสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ โดยในปี 2556 มีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน รวมทุกกรณี ทั้งสิ้น 61,635 ราย คิดเป็น 55% ของลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานทั้งหมด 111,894 ราย


หวังว่าองค์กรอิสระด้านคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานที่จะก่อตั้งขึ้นใหม่นั้นจะช่วยเสริมสร้างและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้กับลูกจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างในกลุ่มสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กได้อย่างอย่างแท้จริง