สนช.พร้อมรับร่างแก้รธน.ทำประชามติ

สนช.พร้อมรับร่างแก้รธน.ทำประชามติ

สนช.พร้อมรับร่างแก้รธน.ทำประชามติ เตรียมตั้งกมธ.เต็มสภาพิจารณา 3 วาระรวด เหตุเงื่อนไขเวลาต้องให้เสร็จภายใน 15 วัน

ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)คนที่1 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตามขั้นตอนจะต้องมีการส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 มาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยสนช.มีเวลาการพิจาณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสนช.ไม่มีอำนาจในการแก้ไขเนื้อหาหรือเสนอคำแปรญัตติ เว้นแต่ครม. และคสช.จะเห็นชอบด้วย

นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น คงไม่พิจารณาเหมือนกฎหมายปกติที่ต้องพิจารณา 3 วาระ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้สนช.ต้องเร่งดำเนินการภายใน 15 วัน ดังนั้น สนช.อาจตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา เพื่อพิจารณา 3 วาระรวด แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ให้สมาชิกสนช.ได้มีเวลาศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความรอบคอบด้วย

“ผมคิดว่าเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องระบุถึงเงื่อนไขต่างๆของ การทำประชามติ เช่น หาหากเกิดกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลอย่างไร โดยเฉพาะการกลับไปเริ่มต้นกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นต้น” นายสุรชัย กล่าว

เมื่อถามว่า ในทางเทคนิคทางกฎหมายคสช.สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 มาตรา 44 ได้เลยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสนอร่างแก้ไขมาให้กับสนช. นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่สามารถทำนได้ เนื่องจากมาตรา 44 มีไว้บังคับใช้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ เท่ากับว่าก็ต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เมื่อถามว่า หากมีการประกาศให้ทำประชามติ จำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลและคสช.ต้องผ่อนปรนข้อห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้ นายสุรชัย กล่าวว่า คิดว่าต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการประชามติ ที่ต้องมีการเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคิดว่าฝ่ายที่จะเป็นเจ้าภาพในการเปิดเวทีดังกล่าว คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้เขียนรัฐธรรมนูญ